10/28/2007

บรมครูแพทย์ ชีวกโกมารภัจจ์



กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อสาลวดีเป็นสตรีทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง พวกคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์จึงได้คัดเลือกกุมารีสาลวดีเป็นหญิงงามเมือง ครั้นนางกุมารีสาลวดี (สาสวดี) ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนัก ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้องบรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์ ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์

นางมีความคิดเห็นว่า ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆทราบว่ามีครรภ์ ลาภผลจักเสื่อมหมด นางได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่าอย่าให้ชายใดๆเข้ามา และถ้าผู้ใดถามหาจงบอกเขาว่าเราเป็นไข้ หลังจากนั้นอาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่าจงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ (กองขยะ)

ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัย กำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตร เห็นทารกนั้นอันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่าฝูงการุมตอมอะไร มหาดเล็กจึงตอบว่า "ทารก ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ" เจ้าชายอภัยจึงได้มีรับสั่งให้นำทารกนั้นกลับไปให้นางนมของพระองค์เลี้ยงที่วัง และอาศัยคำว่า "ยังเป็นอยู่" จึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก (ยังมีชีวิตอยู่) และได้ตั้งนามสกุลว่าโกมารภัจจ์

ต่อมาไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูลถามแด่เจ้าชายอภัยว่า
"ใครเป็นมารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้ากระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ" เจ้าชายรับสั่งว่า "พ่อชีวก แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้"

เรียนศิลปะทางแพทย์
ชีวกโกมารภัจจ์พออายุได้ ๑๖ ปี ได้ทราบว่ามีนายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมืองตักกสิลา ชีวกโกมารภัจจ์ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นเพื่อกราบขอเรียนวิชาแพทย์

ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์จึงเรียนถามอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มากเรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมาเป็นเวลา ๗ ปีก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า ขอรับ" นายแพทย์ตอบว่า "พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียม เที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์ ตรวจดูว่าสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา"

ชีวกโกมารภัจจ์จึงทำตามคำบอกของอาจารย์ แต่ก็มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่งจึงเดินทางกลับ และได้กราบเรียนต่อนายแพทย์ว่า "ท่านอาจารย์กระผมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง" นายแพทย์บอกว่า "พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้แล้ว"

ภาคปฏิบัติงานแพทย์
ระหว่างการเดินทางกลับ ท่านได้ทำการรักษาภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต ซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี คราวนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หายโดยวิธีนัตถุ์ยาคราวเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้วได้ให้รางวัลชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรเศรษฐีได้ทราบว่ามารดาของเขาหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเขาหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์เศรษฐีคหบดีทราบว่าภรรยาของเราหายโรคแล้วจึงได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาสทาสีพร้อมทั้งรถม้าอีกด้วย ชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาสทาสี และรถม้าเดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ และถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ จากนั้นได้เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วจึงได้กราบทูลว่าเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นการกระทำครั้งแรกของเกล้ากระหม่อม ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูจากเกล้ากระหม่อมเถิด

พระราชกุมารรับสั่งว่า "อย่าเลย พ่อนายชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และเจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในวังของเราเถิด" ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า "เป็นพระกรุณายิ่งพระเจ้าข้า" แล้วได้สร้าง บ้านอยู่ในวังของเจ้าชายอภัย

พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก
สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก พระภูษาเปื้อนพระโลหิต ต่อมาท้าวเธอได้ตรัสเล่าความนั้นแก่เจ้าชายอภัยว่าขอให้ช่วยหาหมอรักษาให้ที เจ้าชายอภัยจึงได้บอกกับชีวกโกมารภัจจ์ว่าให้ไปรักษาพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านก็ได้รักษาโรคริดสีดวงงอกของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชให้หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงหายประชวร จึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นางเปลื้องเครื่องประดับทั้งปวงเพื่อเป็นรางวัลแก่ท่าน แต่ท่านชีวกโกมารภัจจ์ไม่ยอมรับ ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งว่า "ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเถิด"

พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย
สมัยนั้น พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์ กายของตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย"

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อท่านทราบความแล้วจึงบอกให้ท่านพระอานนท์ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันเสียก่อน

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกนี้ว่า การที่จะพึงทูลถวายพระโอสถถ่ายที่หยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้นไม่สมควรเลย ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง"

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มี พระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง"

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง"

ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป ขณะเมื่อชีวกโกมารภัจจ์เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้วได้มีความปริวิตกว่าได้ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่าย ครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของชีวกโกมารภัจจ์ด้วยพระทัยแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

"อานนท์ ชีวกโกมารภัจจ์เกิดความปริวิตก อย่างนั้นเธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้"

ต่อมา ชีวกโกมารภัจจ์ไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราถ่ายแล้ว ชีวก" ท่านชีวกโกมารภัจจ์จึงได้เล่าความปริวิตกของตนให้ตถาคตฟัง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ในลำดับนั้นเอง ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลว่า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผัก ต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ

ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว

หมอชีวกบรรลุโสดาบัน
หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือ สวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวัน ของหมอชีวก)

โรคระบาด ๕ ชนิด
ครั้นหนึ่ง มีโรคระบาดในมคธชนบท ๕ ชนิด คือ โรคเรื้อน ๑ โรคฝี ๑ โรคกลาก ๑ โรคมองคร่อ ๑ โรคลมบ้าหมู ๑ จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้า ให้ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรค ๕ ชนิด ใครบวชให้ถือว่าเป็นอาบัติทุกกฏ

อนุญาตให้สงฆ์รับคหบดีจีวร
สมัยหนึ่ง หมอชีวกได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าอนุญาตให้สงฆ์รับคหบดีจีวรเป็นครั้งแรก

ทูลเสนออนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ
นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย

พระเทวทัตทำโลหิตุปบาทกรรม
ในสมัยหนึ่ง พระเทวทัตเป็นผู้ร่วมคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นสู่เขาคิชฌกูล มีจิตคิดร้ายคิดปลงพระชนม์พระศาสดา จึงกลิ้งหินลงมาจากเขานั้น แต่ยอดเขาทั้ง ๒ ยอดได้รับหินนั้นไว้ สะเก็ดซึ่งแตกออกจากหินนั้น กระเด็นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระโลหิตให้ห้อแล้ว

พระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "เธอทั้งหลาย จงนำเราไปในสวนมะม่วงของหมอชีวกนั้น"

พวกภิกษุจึงได้นำท่านพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก และเมื่อท่านทราบเรื่องก็รีบเดินทางไปถวายเภสัชขนานที่ชะงัด เพื่อประโยชน์กำชับแผล หลังพันแผลเสร็จแล้ว ได้ทราบทูลว่า

"ข้าพระองค์ประกอบเภสัชแก่มนุษย์ผู้หนึ่งภายในพระนคร ข้าพระองค์จักไปยังสำนักของมนุษย์นั้นแล้ว จัก (กลับ) มาเฝ้า ขอให้พระงค์จงตั้งอยู่โดยนิยามที่ข้าพระองค์พันไว้นั่นแล"

หลังจากที่ท่านเข้าไปทำกิจที่ควรทำแก่บุรุษนั้นแล้ว กลับมาในเวลาปิดประตู จึงไม่ทันประตู ท่านจึงได้มีความวิตกว่า

"เราทำกรรมหนักเสียแล้ว ที่เราถวายเภสัชอย่างชะงัดพันแผลที่พระบาทของพระตถาคตเจ้าดุจคนสามัญ เวลานี้เป็นเวลาแก้แผลนั้น เมื่อแผลนั้นอันเรายังไม่แก้ ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง"

ขณะนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนทเถระมาเฝ้า แล้วรับสั่งว่า

"อานนท์ หมอชีวกมาในเวลาเย็นไม่ทันประตู เขาคิดว่า ‘เวลานี้เป็นเวลาแก้แผล’ เธอจงแก้แผลนั้น"

เมื่อพระเถระแก้แล้ว แผลของพระองค์ก็หายสนิทดุจสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้

เมื่อหมอชีวกมายังสำนักพระศาสดาว ภายในอรุณนั่นแล จึงได้ทูลถามว่า

"พระเจ้าข้า ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์หรือไม่?"

พระศาสดาตรัสว่า "ชีวก ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคตสงบราบคาบแล้ว ที่โคนต้นโพธิพฤกษ์นั่นแล"

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนาหมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก

พระคาถาอัญเชิญดวงจิตวิญญาณ เอกอัครมหาบูรพปรมาจารย์ ชีวกโกมารภัจจ์

ก่อนสวดตั้งนะโม ๓ จบ

โอม นะโม ชีวะโก สิระสา อะหัง กรุณิโก สัพพะสัทธานัง โอสะถะ ทิพพะมันตัง ประภาโส สุริยาจันทัง โกมารภัจจ์โต ประภาเสสิ วันทามิ ปัณฑิโต สุเมทะโส อะโรคา สุมนาโหมิ (ว่า ๓ ครั้ง)

นะอะ นะวะ โรคา พยาธิ วินาสสันติ (ว่า ๓ ครั้ง)

บทอธิษฐาน
ขอบารมีแห่งบรมครูหมอชีวกโกมารกัจจ์ จงคุ้มครองให้ ข้าพเจ้า ........ (ชื่อ / นามสกุล) ........ พ้นจากโรคร้ายภัยเวร โรคเวร โรคกรรม ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ขอให้อานิสงส์แห่งแรงอธิษฐานนี้คุ้มครองข้าพเจ้านับตั้งแต่บัดนี้ล่วงไปเมื่อหน้าเทอญ..

อ้างอิงจาก:
1. http://www.dharma-gateway.com/
(เนื้อหาจากพระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน)
2. http://www.geocities.com/siammedherb
3. http://www.zubzip.com/
4. http://www.komchadluek.net/

No comments: