12/07/2007

พระมงคลวิสุทธิ์ (หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล)



หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก พุทธศักราช 2439 (ตรงกับวันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2439) ที่ บ้านคำบ่อ ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัด สกลนคร โยมบิดา คือ ขุนพลภักดี ผู้ใหญ่บ้าน คำบ่อ ชื่อเดิม คือ นายพล วงศ์ภาคำ โยมมารดา ชื่อ นางสอ วงศ์ภาคำ มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คือ
1. นางสี วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
2. นายเสน วงศ์ภาคำ (บวชเป็นพระภิกษุ - มรณภาพ)
3. นางผม วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
4. นางเกตุ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
5. นายจันทร์เพ็ง วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
6. หลวงปู่สุภา กนฺตสีโล
7. นางมาลีจันทร์ วงศ์ภาคำ (ถึงแก่กรรม)
8. นางกา วงศ์ภาคำ (ยังมีชีวิตอยู่)

หลวงปู่สุภา เป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว เมือตอนเป็นเด็กท่านอ้วนท้วนสมบูรณ์ผิวขาว หน้าตาน่ารักน่าชัง ท่านใช้ชีวิตอย่างเช่นเด็กทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น คือ เที่ยววิ่งซุกซนไปตามประสา จะมีโอกาสเรียนเขียนอ่านก็ต่อเมื่อพ่อแม่พาไปฝากวัดให้พระท่านสอน หรือไม่ก็ให้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ ที่รู้หนังสือสอนให้ วัดจึงนับเป็นสถานที่แห่งเดียวที่เด็กชายจะสามารถไปแสวงหาความรู้เช่นเดียวกัน คนอีสานส่วนใหญ่ในสมัยนั้นคือ มักจะให้ลูกบวชเป็นสามเณร

เมือหลวงปู่สุภาอายุได้ 7 ขวบ วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านและเพื่อนๆ ออกไปวิ่งเล่นที่ริมทุ่งชายป่าได้พบ กับพระธุดงค์รูปหนึ่งมาปักกลดพักอยู่ใต้ต้นตะแบกใหญ่ เด็กคนอื่นๆ ที่เห็นพระรูปนั้นไม่ได้สนใจ ต่างพากันวิ่งเล่นกันต่อ เว้นไว้แต่เด็กชายสุภา ซึ่งมีจิตใจโน้มมาทางธรรมตั้งแต่อายุยังน้อยจะเห็นได้ จากการที่ชอบเข้าใกล้พระ ชอบไปวัดดังนั้น เมื่อท่านเห็นพระธุดงค์รูปนั้นปักกลดพักอยู่ก็แยกตัว ออกจากเพื่อนๆ ตรงเข้าไปกราบ เมื่อพระภิกษุชราที่นั่งพักอยู่ภายใจกลดเห็นเด็กชายหน้าตาน่ารัก เข้ามากราบอย่างสวยงาม เหมือนกับได้รับการสั่งสอนมาเป็นอย่างดี จึงมองเด็กน้อยคนนั้นด้วยความ เมตตา เพ่งดูลักษณะอยู่ครู่เดียวจึงบอกเด็กน้อยว่า ต่อไปภายหน้าจะได้บวช เมื่อบวชแล้วอย่าลืมไปหา ท่าน พระภิกษุรูปนี้ คือ หลวงปู่สีทัตต์ จำพรรษาอยู่ที่วัดท่าอุเทน จังหวัดนครพนมนั่นเอง แต่ในเวลา นั้น เด็กชายสุภายังไม่ได้นึกอะไร ได้แต่นั่งคุยกับหลวงปู่สีทัตต์ครู่หนึ่ง จึงนมัสการกราบลาไปวิ่งเล่น กับเพื่อนๆ ต่อ

หลังจากได้พบกับหลวงปู่สีทัตต์ที่ชายป่าในครั้งนั้นแล้วเป็นเวลา 2 ปี บิดามารดาของหลวงปู่ได้ ตกลงใจให้หลวงปู่ซึ่งเป็นลูกชายคนสุดท้องบวชเป็นสามเณร ในขณะที่ท่านอายุได้ 9 ขวบ โดยมี พระอาจารย์สวน เจ้าอาวาศวัดแห่งหนึ่งในหมู่บ้านตำบลคำบ่อเป็นพระอุปัชฌาย์

สามเณรสุภาได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์สวนอยู่เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้น ในปี พุทธศักราช 2449 ท่านได้เดินทางไปเรียนมูลกัจจายน์ 5 เล่ม ที่วัดไพรใหญ่ จังหวัด อุบลราชธานี ที่นั่นมีอาจารย์สอนมูลกัจจายน์อยู่ 2 ท่าน คือ พระอาจารย์พระมหาหล้า และอีกท่าน เป็นฆราวาส ชื่อ อาจารย์ลุย สามเณรสุภาได้ใช้เวลาศึกษามูลกัจจายน์ 5 เล่มอยู่ที่วัดไพรใหญ่เป็น เวลานานหลายปีกว่าจะจบมูลกัจจายน์ 5 เล่ม เมื่อจบหลักสูตรแล้ว ก็มีความคิดที่จะหาความรู้ เพิ่มเติมจึงได้กราบลาอาจารย์ออกจากวัดไพรใหญ่ โดยที่ขณะนั้นได้ทราบข่าวว่ามีพระอาจารย์รูป หนึ่งเก่งทางวิปัสสนาและทรงวิทยาคมอยู่ที่วัดท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีชื่อว่า พระอาจารย์สีทัตต์ สามเณรสุภาจึงนึกขึ้นได้ว่า เคยได้ยินชื่อนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว และจำได้ว่าเคยกราบ ท่านที่ใต้ต้นตะแบกเมื่อตอนเป็นเด็กๆ และท่านยังสั่งไว้ว่าเมื่อบวชแล้วให้ไปหาท่าน ในครั้งนั้น สามเณรสุภาอายุใกล้ครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จึงออกเดินทางไปนมัสการหลวงปู่สีทัตต์ที่ วัดท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนนครพนม ขณะนั้น หลวงปู่สีทัตต์อายุมากแล้ว ท่านเป็นพระป่า ที่มีชื่อเสียงมากทางวิปัสสนากรรมฐาน ขณะที่สามเณรสุภาเดินทางไปพบ หลวงปู่สีทัตต์กำลังก่อสร้าง พระธาตุอยู่องค์หนึ่ง คือ พระธาตุท่าอุเทนในปัจจุบัน หลวงปู่สีทัตต์ได้รับสามเณรสุภาไว้เป็นศิษย์ด้วย ความยินดี นับว่าหลวงปู่สีทัตต์ เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานองค์แรกของหลวงปู่สุภา

สามเณรสุภา ได้เริ่มฝึกกรรมฐานและออกธุดงค์เป็นกิจจะลักษณะกับหลวงปู่สีทัตต์ ซึ่งได้พาสามเณร สุภาออกธุดงค์ข้ามไปฝั่งลาว เพราะวัดพระธาตุท่าอุเทนนั้น อยู่ในเขตจังหวัดนครพนมใกล้กันกับ แม่น้ำโขง สมัยนั้นการเดินทางไปมาสะดวก อีกทั้งยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก มีภูเขา ป่าไม้และถ้ำมากมาย ผู้คนศรัทธาในพระพุทธศาสนาบ้านเมืองสงบร่มเย็นดี ไม่วุ่นวายเหมือนในปัจจุบันพระสงฆ์ทั้งไทยและ ลาวจึงมักจะธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมอยู่กับพระลาวที่เก่งทางวิปัสสนา หลวงปู่สีทัตต์เองก็ได้พาสามเณรสุภา ไปธุดงค์ฝั่งลาวอยู่เสมอ ๆ ที่ชอบไปพักมากที่สุด คือ ถ้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งสวยงามน่าอยู่ ในถ้ำนั้นมี เขาควายใหญ่วางอยู่คู่หนึ่ง ยาวข้างละประมาณ 8 ศอก มีภูเขาลักษณะโค้งงอนเหมือนกับเขาควาย ชาวบ้านฝั่งลาวจึงเรียกว่า ถ้ำภูเขาควาย ในถ้ำแห่งนี้มีพระสงฆ์ไปปฏิบัติธรรมกันมาก บางครั้งก็อยู่กัน คราวล่ะหลายรูป บางปีก็มีพระสงฆ์ไทยไปจำพรรษาอยู่เช่นกัน เนื่องจากในสมัยนั้น สร้างวัดกันได้ ง่ายกว่าในปัจจุบันไม่ว่าจะฝั่งไทย ฝั่งลาว ส่วนใหญ่วัดตามป่าตามเขาไม่ต้องขอวิสุงคามวาสี ก็ สามารถสร้างเป็นวัดได้

สามเณรสุภาได้ติดตามหลวงปู่สีทัตต์ไปธุดงค์จนอายุครบอุปสมบท ในปีพุทธศักราช 2459 หลวงปู่จึงได้อุปสมบทให้สามเณรสุภาภายในถ้ำภูเขาควายนั้น โดยท่านเองเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระเถระที่ไปปฏิบัติธรรมอยุ่ที่ถ้ำภูเขาควาย เป็นพระกรรมวาจารย์และอนุสาวนาจารย์ รวมทั้งพระนั่งอันดับสามเณรสุภาได้รับฉายาว่า กนฺตสีโล

ที่ถ้ำภูเขาควายนั้น จะมีพระวิปัสสนาจารย์ที่รอบรู้ในสรรพวิชาไปพักปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก หลวงปู่สีทัตต์ต้องการให้ลูกศิษย์ท่านได้มีโอกาศรู้จักกับพระวิปัสสนาจารย์เหล่านั้น เพื่อจะได้ศึกษา วัตรปฏิบัติของท่าน หลังจากอุปสมบทแล้วก็ปฏิบัติธรรมอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้น ท่านก็ติดตาม หลวงปู่สีทัตต์ซึ่งกลับมาจำพรรษาที่วัดพระธาตุท่าอุเทน เพื่อดำเนินการสร้างพระธาตุเมื่อมีเวลาว่าง หลวงปู่จะพาลูกศิษย์รวมทั้งพระสุภาออกธุดงค์อีกเช่นนี้ ไปจนกระทั่งสร้างพระธาตุท่าอุเทนเสร็จ เรียบร้อย

พระภิกษุสุภาได้พำนักอยู่กับหลวงปู่สีทัตต์เป็นเวลานานถึง 8 ปี โดยศึกษาพระปริยัติธรรมทั้ง 5 และปฏิบัติวิปัสสนากรรฐาน ท่านได้ใช้เวลา 4 ปีแรก ศึกษาพระคัมภีร์ปริยัติทั้ง 5 และการ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อขึ้นปีที่ 5 หลวงปู่สีทัตต์ได้แนะให้ท่านออกธุดงค์ ในครั้งแรก อนุญาตให้มีเพื่อนติดตามอีก 3 รูป โดยมี 2 รูปเป็นพระอีกรูปเป็นสามเณร เดินธุดงค์ออกจาก ถ้ำภูเขาควายขึ้นไปทางผาต้อหน่อคำ แขวงคำม่วน อำเภอเซโปน จังหวัดเซโปน ประเทศลาว เพื่อทดสอบสมาธิและอุปนิสัยของพระภิกษุสุภา จนกระทั่งเห็นว่าท่านมีสมาธิแน่วแน่ในการปฏิบัติ ธรรมและวิปัสสนากรรมฐานดีแล้ว

หลวงปู่สีทัตต์ตั้งใจอบรมสั่งสอนทั้งทางด้านวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาอาคมต่างๆ รวมทั้งสอน วิชา วิธีถอดกายทิพย์ ให้ด้วย จนถึงขั้นจะให้เรียนภาษานกได้รู้เรื่อง แต่ท่านได้พิจารณาดูวัตร ปฏิบัติของท่านแล้ว เห็นว่าชอบออกธุดงค์มากกว่าจึงขอออกธุดงค์ ไม่ได้เรียนภาษานก ก่อนออก ธุดงค์ หลวงปู่สีทัตต์ ได้แนะและอบรมสั่งสอนท่านไปว่า - ไปให้ดีนะลูกนะ เดินให้สม่ำเสมอ อย่าเร็ว อย่าช้า ให้ค่อยไป ให้ค่อยมา โบราณเขาว่าอยากถึงเร็วให้คลาน อยากถึงนานให้วิ่ง -

เมื่อปีพุทธศักราช 2463 พระภิกษุสุภาได้กราบลาหลวงปู่สีทัตต์เพื่อออกธุดงค์วัตร และออกจากถ้ำ ภูเขาควายไปตามทางที่หลวงปู่สีทัตต์ได้เมตตาแนะนำ คือ ให้วิ่งจากถ้ำภูเขาควายไปท่าเดื่อ และจาก ท่าเดื่อไปหนองคาย ให้ไปสละธุดงค์ที่หนองคาย พร้อมทั้งแนะนำว่า อย่าเดิน เพราะจะช้าเกินไป เรียนอะไรจะไม่จบ และยังชี้แนะอีกว่าจะได้พบอาจารย์ที่เก่งมากองค์หนึ่งหากแต่ไม่ได้บอกว่าเป็น ผู้ใด

พระภิกษุสุภาออกเดินทางไปตามเส้นทางที่หลวงปู่สีทัตต์แนะนำ พอถึงหนองคาย ก็ออกธุดงค์ และให้เดินทาง ไปทางเหนือจะได้พบกับ พระอาจารย์องค์หนึ่งที่มี ความเชี่ยวชาญด้านกสิณและ วิชา แปดประการ มีอภิญญาสูงมาก พระภิกษุสุภาได้วิชาอาคมจากท่าน และนั่ง รถยนต์เข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้ทันเวลาตามที่หลวงปู่สีทัตต์ได้บอกไว้ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ท่านก็ได้ ถามหาเกจิอาจารย์ที่สามารถสอนทางพุทธศาสตร์ที่ลึกลับ ลึกซึ้ง หรือสอนทางวิปัสสนากรรมฐาน มีคนเล่าลือว่ามี อาจารย์ศุข (หลวงปู่ศุข เกสโร) อยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ท่านจึง ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เดินทาง นั่งรถบ้างจนถึง จังหวัดชัยนาทตามที่หลวงปู่สีทัตต์ได้บอกท่าน ก่อนกราบลาจากถ้ำภูเขาควาย

เมื่อเดินทางไป ที่วัดอู่ทอง พอเห็นกุฏิ หลวงปู่ศุข ก็จะขึ้นไปนมัสการ ก็ได้รับคำทักทาย ว่า...มาถึงแล้วหรือพ่อเณรน้อย กำลังรออยู่ พอดี ล้างเท้าแล้วขึ้นมาเห็นหน้าเห็นตา กันหน่อย

มีแต่ เสียงทักทายที่นอกชาน แต่เมื่อมองขึ้นไปไม่เห็นใคร จึงได้คิดในใจว่า... นี่คือพลังปราณผู้ที่สำเร็จ สามารถออกเสียงให้ดังค่อย หรือไกลใกล้แค่ไหน ก็ได้ หรือว่าท่านมีพลังในการโปร่งแสง (หายตัวได้) (ในช่วงที่หลวงปู่สุภาไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ศุขนั้น กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ?เสด็จเตี่ย? ได้ศึกษาวิชาจาก หลวงปู่ศุข จบและเดินทางเข้ากรุงเทพฯก่อนหน้านี้ประมาณ 4 ปี)

ท่านได้คลานเข้าไปกราบหลวงปู่ศุขซึ่งขณะนั้นท่านทราบแล้วว่าจะมีพระภิกษุมาจากประเทศลาว จึงถามท่านว่ามาจากประเทศลาวใช่หรือไม่ ท่านจึงตอบรับและกราบเรียนว่า มีความประสงค์จะมาขอให้หลวงปู่อนุเคราะห์ให้ท่านได้อยู่ศึกษา เล่าเรียนด้วย หลวงปู่ศุขจึงรับพระภิกษุสุภาไว้เป็นศิษย์ ท่านพำนักอยู่กับหลวงปู่ศุขเป็นเวลา 3 ปี ได้ศึกษาวิชาต่างๆ ที่หลวงปู่ศุขได้ถ่ายทอดให้ หลวงปู่ศุขเองก็ได้ให้ความรัก ความเมตตาต่อลูกศิษย์ ท่านเป้นอย่างมาก ถึงแม้พระภิกษุสุภาได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุมานานเกือบ 4 พรรษาแล้วก็ตาม แต่หลวงปู่ศุขก็ยังคงเรียกท่านว่า เณรน้อย เช่นเดียวกับหลวงปู่สีทัตต์เคยเรียก หลวงปู่ศุขย้ำเสมอว่า พระภิกษุสุภาคือ เณรน้อย ลูกศิษย์สุดท้องของท่านเนื่องจากในขณะที่พระภิกษุสุภาเริ่มเข้าไปกราบ หลวงปู่ศุขนั้น ท่านอายุมากแล้วแต่ยังขยันปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ ทุกวัน พระภิกษุ สุภามีความเคารพนับถือและรักใคร่หลวงปู่ศุขอย่างยิ่งเช่นกัน หลวงปู่ศุข จึงนับเป็นพระอาจารย์องค์ ที่ 2 ของท่านต่อจากหลวงปู่สีทัตต์

หลวงปู่ศุขเป็นพระที่มีชื่อเสียงมาก มีผู้คนไปกราบนมัสการมิได้ขาด ด้วยความศรัทษารักท่านเป็น เสมือนพระผู้วิเศษเฉกเช่นเทพเจ้า เป็นที่เคารพบูชาของคนทุกชนชั้น ตั้งแต่เจ้านายลงมาถึงไพร่ หลวงปู่ศุขประสิทธิ์ประสาทวิชาต่างๆ ให้พระภิกษุสุภา เมื่อหลวงปู่ศุขท่านนั่งกรรมฐานท่านก็นั่ง กรรมฐานไปด้วย หากติดขัดปัญหาธรรมที่ใด ก็ไปกราบเรียนถาม ท่านก็เมตตาแนะนำให้ทุกครั้ง วิธีการสอนของหลวงปู่ศุข ไม่ได้สอนแบบสำนักที่เปิดสอนกันทั่วไป ส่วนใหญ่ ท่าจะปฏิบัติให้ดูเป็น ตัวอย่าง แล้วให้ลูกศิษย์ ศึกษาทำความเข้าใจเอาเอง

ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาคมนั้น ท่านค่อยๆ ศึกษาดูว่า หลวงปุ่ศุขทำอย่างไร ส่วนใหญ่พวกลูกศิษย์ที่ ศึกษาอยู่กับท่าน ต้องช่วยท่านอยู่แล้ว ในเวลาที่ท่านปลุกเสก ก้ได้ไปคอยสังเกต พระคาถาต่างๆ หลวงปู่ศุขก็สอนให้บ้าง จดจำเองบ้าง และไปขอท่านบ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่มีลูกศิษย์คนใด จะปฏิบัติ จนบรรลุได้เหมือนหลวงปู่ศุข บางครั้ง เวลาลงยันต์ทำตะกรุดต้องลงไปทำใต้ท้องน้ำ ไม่มีใครเห็น จะเห็นได้ก็ต่อเมือตอนท่านขึ้นมาจากน้ำแล้ว

พระภิกษุสุภา ได้ปฏิบัติธรรมอย่างขยันหมั่นเพียรตลอดเวลากับหลวงปู่ศุข ไม่ค่อยได้คลุกคลีกับ ใคร ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือกับพระภิกษุด้วยกันเพราะหลวงปู่ศุขไม่ชอบให้วุ่นวาย ท่านจึงมุ่ง แต่ปฏิบัติไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ พวกลูกศิษย์ก็ไหว้พระพร้อมกับหลวงปู่ศุข ซึ่งท่านได้ให้ โอวาททบทวนธรรมะ หากมีข้อขัดข้อง ก็ถามท่านได้ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติขั้นตอนใด ท่านจะ แนะนำให้จนกระทั่งได้เวลาพอสมควร ท่านก็กลับไปทำกิจของท่าน ลูกศิษย์อื่นต่างก็แยกย้ายกัน ไปพัก และ ปฏิบัติต่อเอง นอกจากนี้ พระภิกษุสุภา ยังคอยสังเกตเรื่องวิทยาอาคม จากการอ่าน ตำราที่ท่านเที่ยวจดเที่ยวเขียนไว้บ้าง ดูจากกรรมวิธีที่ท่านทำบ้าง เรียนถามท่านบ้าง ท่านก็แนะนำ ให้ตามสมควรใครสนใจมากก็ได้ไปมาก ใครไม่สนใจก็ไม่ได้อะไรไปเลย แต่ส่วนใหญ่ หลวงปู่ศุข จะเน้นเรื่องการรักษาศีลและการปฏิบัติมากกว่า เพราะท่านสอนว่าถ้า ศีลบริสุทธิ์ คุณวิเศษต่างๆ ก็จะมีมาเอง พระภิกษุสุภา กนฺตสีโล ได้ศึกษาธรรมและวิทยาคมต่างๆ กับหลวงปู่ศุขที่วัดปากคลอง มะขามเฒ่าเป็นเวลากว่า 3 ปี ถือได้ว่าเป็น 3 ปีที่มีค่าที่สุดในชีวิตเพระาได้ความรู้ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะความรู้ในทางธรรมและวิทยาคมต่างๆ ครั้งนั้น มีพระภิกษุไปปฏิบัติธรรมและเรียนวิชาอยู่ กับหลวงปู่ศุขด้วยกันประมาณ 30-40 รูป ซึ่งปัจจุบัน มรณภาพกันปหมดแล้ว เท่าที่ทราบใน เวลานี้ จะมีเพียงหลวงปู่สุภาเพียงรูปเดียวในบรรดาศิษย์รุ่นเดียวกัน



เมื่อท่านเดินทางไปถึงแห่งหนตำบลใดก็มักจะสร้างประโยชน์สุขให้แก่ชุมชนนั้น ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การก่อสร้างพุทธสถาน หรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ท่านก็ยินดีทำให้ด้วยความเต็มใจและ เห็นใจผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากเสมอ พุทธศาสนิกชนที่รับทราบจึงเคารพศรัทธาท่านเป็นอันมาก ไม่เพียงแต่ ในประเทศไทยเท่านั้นที่ท่านเดินทางไป ในแถบทวีปเอเชียท่านก็ธุดงควัตรไปเกือบทุกประเทศ ไม่ว่า จะเป็น ลาว เวียดนาม สิงค์โป มาเลเซีย ฯลฯ ไปถึงจีน อินเดีย และประเทศในทวีปยุโรป

หลวงปู่สุภาธุดงค์มาทางภาคใต้ของประเทศไทย และนิยมชมชอบสถานที่ใน จ.ภูเก็ต คราแรกท่าน มาปักกลดที่เขารัง จากนั้นจึงนั่งเรือข้ามฝั่งไปเกาะสิเหร่ปักกลดแสวงหาความวิเวกจนมาพบพื้นที่ แปลงหนึ่ง เจ้าของที่ชื่อ ?แป๊ะหลี? ซึ่งมีความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ จึงถวายที่ดินเพื่อ สร้างวัด เป็นวัดแรกบนเกาะ เรียกว่า "วัดเกาะสิเหร่" เป็นการก่อสร้างที่มีความยากลำบากมาก เพราะอยู่บนเกาะ การเดินทางไปมาไม่สะดวก บวกกับชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น ?ชาวเล? ซึ่ง ไม่ซึมซาบในศาสนาพุทธ ท่านหลวงปู่ต้องใช้ทั้งปัญญา และกุศโลบายมากมายก่อนที่จะทำให้ชาวบ้าน ยอมรับ และซึมซับเอาพุทธศาสนาเข้าไปอยู่ในจิตใจ และปฏิบัติตามได้ สุดท้ายก็สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยมีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่เป็นพระประธาน รวมเวลาก่อสร้าง 6 ปีเต็ม ได้ถวายเป็นพระราช กุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรม ราชินีนาถ การนี้ได้ทรงโปรดเกล้าพระราชทานแววพระเนตรมาประดิษฐานไว้ที่พระเนตรขององค์ พระพุทธไสยาสน์ด้วย จากนั้นท่านยังคงแบกกลดออกเดินทางต่อไป ด้วยจิตใจใฝ่สันโดษ จนกระทั่งท่านย้อนกลับมายังดินแดนภูเก็ตอีกครั้ง เมื่อมีอายุได้ 84 ปี สังขาร เริ่มโรยราและอาพาธอยู่บ่อยครั้ง ลูกศิษย์ของท่านจึงอยากให้ท่านปลดกลดละธุดงค์เสียจึงร่วมกันคิด และเห็นพ้องกันว่าควรตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นที่เขารัง และตั้งชื่อตามนามเจ้าของที่ดิน ว่า ?สำนักสงฆ์เทพ ขจรจิต? และก่อสร้างพระพุทธรูปปางประทานพรไว้บนยอดเขามีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต สามารถมองเห็นได้แต่ไกล บ่อยครั้งเมื่อหลวงปู่อาพาธต้องเข้าทำการรักษาที่ รพ.วชิระ ท่านเห็นว่า พระสงฆ์ที่อาพาธต้องรักษาอยู่รวมกับคนป่วยทั่วไป ทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่พระสงฆ์ เมือท่าน เห็นดังนั้นจึงสร้างตึกสงฆ์อาพาธขึ้นที่ รพ.วชิระ ทำให้การรักษาพยาบาลพระสงฆ์ทำได้ดีขึ้น นับ เป็นผลงานของท่านเมื่ออายุได้ 100 ปีพอดี สำนักสงฆ์เทพขจรจิตแห่งนี้นับเป็นสถานที่ที่ท่าน หลวงปู่พักอาศัยยาวนานที่สุด ด้วยความที่ท่านเป็นพระภิกษุที่ตั้งจิตอุทิศตนอยู่ภายใต้ร่มเงา ในพุทธศาสนาจึงคิดสร้างวัดขึ้นอีก แต่ด้วยเหตุว่าอาณาบริเวณบนยอดเขารังมีเนื้อที่ไม่เพียงพอท่านจึง เสาะหาสถานที่สร้างวัดแห่งใหม่ที่ตำบลฉลอง ดำเนินการเพียงสองปีก็สามารถก่อตั้งเป็นวัดได้ โดยได้ รับการโปรดเกล้าพระราชทานนามจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถว่า ?วัดสีลสุภาราม? ได้จัดงานบุญสมโภชป้ายชื่อวัดไปเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2546 ที่ผ่านมานี้เอง

ปัจจุบันหลวงปู่สุภายังมีชีวิตอยู่ด้วยวัย 113 ปี สุขภาพร่างกายแข็งแรงตามอัตภาพ และ ยังคงรักษาศีลภาวนาปฏิบัติธรรมตามภาระกิจของสงฆ์ดังเช่นปกติ ท่านยังเดินทางกลับไปบ้านเกิด ของท่านที่จังหวัดสกลนครอยู่เนือง ๆ ด้วยท่านสร้างวัดไว้ที่นั่น และที่สำนักสงฆ์เทพขจรจิตที่ท่านเป็น ผู้ริเริ่มก็กำลังก่อสร้างโบสถ์และกำลังจะได้รับการประกาศเป็นวัดในเร็ววันนี้เช่นกัน

ตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาท่านจึงมีแต่คำว่า "ให้" และ "สร้าง" ทุกอย่างเพื่อ ประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวพุทธเสมอมา ท่านผ่านร้อน ผ่านหนาว มาหลายยุค หลายสมัย ผ่าน เหตุการณ์ ผ่านสังคมที่เปลี่ยนแปลงมามากมาย เห็นทั้งความดี และความชั่วมาหลายครั้ง หลายหน ผ่านกาลเวลามา 5 รัชสมัย 5 แผ่นดิน ท่านจึงสมควรได้รับคำยกย่องว่า "พระอริยะสงฆ์ห้าแผ่นดิน ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี" ความเพียร ความรู้ ความเมตตากรุณา ที่ท่านมีต่อสาธุชนแสดงผล ปรากฏให้เห็นอันเป็นนิรันดร ท่านคือธรรมจารีที่พุทธมามกะพึงเอาเป็นแบบอย่าง และควรภาคภูมิใจ ที่ท่านส่องแสงสว่างอยู่บนดินแดนอันเปรียบเสมือนไข่มุกแห่งท้องทะเลเบื้องอัสดงคต เปล่งประกายเจิด จรัส สว่างไสวขึ้นกลางใจสาธุชนด้วยชีวิต และ ลมหายใจ ของท่าน...หลวงปู่สุภา กันตะสีโล...

คาถาแมงมุมมหาลาภ หลวงปู่สุภา วัดสีลสุภาราม

นะโม (3 จบ)

สุวัณณะรัชชะตัง มหาสุวัณณะรัชชะตัง
อังคะตะเศรษฐี มหาอังคะตะเศรษฐี
มิคะตะเศรษฐี มหามิคตะเศรษฐี
ปุริเศษสาวา อิตถีวา พรหมณีวา มะอะอุมานิมามา

อ้างอิงจาก
1. http://www.g-pra.com/webboard/show.php?Category=general_talktalk&No=2983
2. http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=prapathep&date=21-08-2007&group=11&gblog=39

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม สังฆปาโมกข์)



ชาติกำเนิด-ประวัติย่อ

"หลวงพ่อแช่ม" วัดฉลอง ภูเก็ต ท่านเกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของ "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" (รัชกาลที่ 3) นามโยมบิดา-มารดา ไม่ปรากฏในประวัติแม้แต่ "หลวงพ่อช่วง" วัดท่าฉลอง ศิษย์เอกของท่านก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้


โยมพ่อ-แม่ได้ส่งให้ท่านมาอยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าเจ้าอาวาสองค์แรกตั้งแต่ยังเล็กๆ เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ก็บวชเป็นสามเณร และต่อมาเมื่ออายุถึงที่จะบวชเป็นพระภิกษุก็บวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลองนี้

หลวงพ่อแช่มได้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่าจนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิปัสนาธุระเป็นอย่างสูง ความมีชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มปรากฏชัดในคราวที่หลวงพ่อแช่มเป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่ ซึ่งท่านจะได้ทราบต่อไปนี้


ปราบอั้งยี่
ในปีพุทธศักราช 2419 กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้นไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธรุกไล่ ยิง ฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมากชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ จนกระทั่งบัดนี้

ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง เมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามา ต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่ม หลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้ จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร

เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่า เมื่อท่านไม่หนีพวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโพกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่

พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ฆ่าฟันชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็จะชะล่าใจ ประมาทรุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียดจากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้านก็ถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมายังวัดฉลอง รับอาสาว่า ถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่ายให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น" ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศีรษะเป็นเครื่องหมายบอกต่อต้านพวกอั้งยี่

พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพงพระอุโบสถเป็นแนวป้องกัน อั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบกำแพงพระอุโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลน พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย

รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธงขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อนชาวบ้านแอบดูอยู่ในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป

หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบน ใครสามารถจับตัวหลวงพ่อแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง 5,000 เหรียญ เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่ออาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้งๆ ก็ถูกตีโต้กลับไป ในทุกครั้ง จนต้องเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์หลวงพ่อแช่มโดยไม่มีเงื่อนไข

คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงปฏิสันฐานกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เอง

หลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมฌศักดิ์หลวงพ่อแช่ม เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสุงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยาธาราราม

บารมีหลวงพ่อแช่ม
จากคำบอกเล่าของคณะผู้ติดตามหลวงพ่อแช่มไปในครั้งนั้นแจ้งว่ามีพระสนมองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ป่วยเป็นอัมพาต หลวงพ่อแช่มได้ทำน้ำพระพุทธมนต์ให้รดตัวรักษา ปรากฏว่าอาการป่วยหายลงโดยเร็วสามารถลุกนั่งได้ อนึ่ง การเดินทางไปและกลับจากจังหวัดภูเก็ตกับกรุงเทพมหานคร ผ่านวัดๆ หนึ่งในจังหวัดชุมพร หลวงพ่อแช่มและคณะได้เข้าพักระหว่างทาง ณ ศาลาหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดนั้น นิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มเข้าไปพักในวัด แต่ หลวงพ่อเกรงใจและแจ้งว่าตั้งใจจะพักที่ศาลาหน้าวัดแล้วก็ขอพักที่เดิมเถิด เจ้าอาวาสและชาวบ้านในละแวกนั้นบอกว่า การพักที่ศาลาหน้าวัดอันตรายอาจเกิดพวกโจร จะมาลักเอาสิ่งของของหลวงพ่อแช่มและคณะไปหมด หลวงพ่อแช่มตอบว่าเมื่อมันเอาไปได้ มันก็คงเอามาคืนได้ เจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านอ้อนวอน หลวงพ่อแช่มก็คงยืนยันขอพักที่เดิม

เล่าว่า ตกตอนดึกคืนนั้น โจรป่ารวม 6 คน เข้ามาล้อมศาลาไว้ ขณะคนอื่นๆ หลับหมดแล้ว คงเหลือแต่หลวงพ่อแช่มองค์เดียว พวกโจรเอื้อมเอาของไม่ถึง หลวงพ่อแช่มก็ช่วยผลักของให้ สิ่งของส่วนมากบรรจุปิ๊บใส่สาแหรก พวกโจรพอได้ของก็พากันขนเอาไป

รุ่งเช้าเจ้าอาวาสและชาวบ้านมาเยี่ยม ทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็พากันไปตามกำนันนายบ้านมาเพื่อจะไปตามพวกโจร หลวงพ่อแช่มก็ห้ามมิให้ตามไป ต่อมาครู่หนึ่ง พวกโจรก็กลับมา แต่การกลับมาคราวนี้หัวหน้าโจรถูกหามกลับมาพร้อมกับสิ่งของซึ่งลักไปด้วย กำนันนายบ้านก็เข้าคุมตัว หัวหน้าโจรปวดท้องจุดเสียดร้องครางโอดโอย ทราบว่าระหว่างที่ขนของซึ่งพวกตนขโมยไปนั้น คล้ายมีเสียงบอกว่า ให้ส่งของกลับไปเสีย มิฉะนั้น จะเกิดอาเพศ พวกโจรไม่เชื่อขนของต่อไปอีก หัวหน้าโจรจึงเกิดมีอาการจุกเสียดขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เลยปรึกษากันตกลงขนสิ่งของกลับมาคืนหลวงพ่อแช่มสั่งสอนว่า ต่อไปขอให้เลิกเป็นโจรอาการปวดก็หาย กำนันนายบ้านจะจับพวกโจรส่งกรมการเมืองชุมพร แต่หลวงพ่อแช่มได้ขอร้องมิให้จับกุมขอให้ปล่อยตัวไป

ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้นที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนชาวจังหวัดต่างๆ ในมาเลเซีย เช่น ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้นต่างให้ความคารพนับถือในองค์หลวงพ่อแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องหลวงพ่อแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วย

การปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น เมื่อพวกอั้งยี่แพ้ศึกแล้วก็หันมาเลื่อมใสให้ความเคารพนับถือต่อหลวงพ่อแช่มเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ซึ่งนับถือศาสนาอื่นก็มีความเคารพเลื่อมใสต่อหลวงพ่อแช่ม เกิดเหตุอาเพศต่างๆในครัวเรือนต่างก็บนบานหลวงพ่อแช่มให้ช่วยขจัดปัดเป่าให้

ชาวเรือพวกหนึ่งลงเรือพายออกไปหาปลาในทะเลถูกคลื่น และพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่มต่างก็บนบานสิ่งศักดิ์ต่างๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้น ชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงหลวงพ่อแช่มได้ ก็บนหลวงพ่อแช่มว่าขอให้หลวงพ่อแช่มบันดาลให้คลื่นลมสงบเถิด รอดตายกลับถึงบ้านจะติดทองที่ตัวหลวงพ่อแช่ม คลื่นลมก็สงบ มาถึงบ้านก็นำทองคำเปลวไปหาหลวงพ่อแช่ม เล่าให้หลวงพ่อแช่มทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน หลวงพ่อแช่มบอกว่าท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไง ให้ไปปิดทองที่พระพุทธรูป ชาวบ้านกลุ่มนั้นก็บอกว่าถ้าหากหลวงพ่อไม่ให้ปิดหากแรงบนทำให้เกิดอาเพศอีก จะแก้อย่างไร ในที่สุดหลวงพ่อแช่มก็จำต้องยอมให้ชาวบ้านปิดทองที่ตัวท่านโดยให้ปิดที่แขนและเท้า ชาวบ้านอื่นๆ ก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก พอหลวงพ่อแช่มออกจากวัดไปทำธุระในเมือง ชาวบ้านต่างก็นำทองคำเปลวรอคอยปิดที่หน้าแขนของหลวงพ่อแทบทุกบ้านเรือน จนถือเป็นธรรมเนียม

เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาจังหวัดภูเก็ตนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มไปหา ก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดอยู่ที่หน้าแข้งของหลวงพ่อแช่ม นับเป็นพระภิกษุองค์แรกของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่

แม้แต่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่ม ซึ่งท่านถือประจำกายก็มีความขลัง ประวัติความขลังของไม้เท้ามีดังนี้ เด็กหญิงรุ่นสาวคนหนึ่ง เป็นคนชอบพูดอะไรแผลงๆ ครั้งหนึ่งเด็กหญิงคนนั้นเกิดปวดท้องจุดเสียดอย่างแรง กินยาอะไรก็ไม่ทุเลา จึงบนหลวงพ่อแช่มว่า ขอให้อาการปวดท้องหายเถิด ถ้าหายแล้วจะนำทองไปปิดที่ของลับของหลวงพ่อแช่ม อาการปวดท้องก็หายไป เด็กหญิงคนนั้นเมื่อหายแล้วก็ไม่สนใจ ถือว่าพูดเล่นสนุกๆ ต่อมาอาการปวดท้องเกิดขึ้นมาอีก พ่อแม่สงสัยจะถูกแรงสินบนจึงปลอบถามเด็ก เด็กก็เล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จึงนำเด็กไปหาหลวงพ่อแช่มหลวงพ่อแช่มกล่าวว่าลูกมึงบนสัปดนอย่างนี้ใครจะให้ปิดทองอย่างนั้นได้ พ่อแม่เด็กต่างก็อ้อนวอนกลัวลูกจะตายเพราะไม่ได้แก้บน ในที่สุดหลวงพ่อแช่มคิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยเอาไม้เท้านั่งทับสอดเข้าให้เด็กหญิงคนนั้นปิดทองที่ปลายไม้เท้า กลับบ้านอาการปวดท้องจุดเสียดก็หายไป ไม้เท้านั่งทับของหลวงพ่อแช่มอันนี้ยังคงมีอยู่ และใช้เป็นไม้สำหรับจี้เด็กๆ ที่เป็นไส้เลื่อน เป็นฝีเป็นปาน อาการเหล่านั้นก็หายไปหรือชงักการลุกลามต่อไป เป็นที่น่าประหลาด

หลวงพ่อแช่มมรณภาพในปี พ.ศ.2451
เมื่อมรณภาพ บรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของหลวงพ่อแช่มปรากฏว่าหลวงพ่อแช่มมีเงินเหลือเพียง 50 เหรียญเท่านั้น ความทราบถึงบรรดาชาวบ้านปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงิน เอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น มีข้าวสาร มีคนมาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา งานศพของหลวงพ่อแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในจังหวัดภูเก็ต หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามโหฬารที่สุดในภาคใต้ บารมีของหลวงพ่อแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้


อ้างอิงจาก

12/06/2007

หลวงพ่อพระทอง (พระผุด)



“พระผุด” มีอีกชื่อหนึ่งคือ “หลวงพ่อพระทอง” เป็นพระประธานอยู่ที่วัดพระทอง หรือ วัดพระผุด หรือวัดนาใน วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านนาใน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 21 กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกษัตรีผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ถึงที่ว่าการอำเภอถลางทางด้านขวาจะมีทางแยกเข้าวัดพระทอง

ที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปผุดขึ้นจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ เรื่องการกำเนิดของพระผุดนั้นไม่ปรากฏที่มาที่ไปชัดเจน เมื่อคราวศึกพระเจ้าปะดุงยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปคราวใดก็มีฝูงแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ครั้นต่อมามีพระธุดงค์มาปักกลดแถวนั้น เมื่อเห็นพระผุดจึงได้สร้างโบสถ์ขึ้นคลุมพระผุด พร้อมๆกับอันเชิญเป็นพระประธานของโบสถ์ ต่อมาชาวบ้านได้นำทองหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ดังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน และนี่อาจจะเป็นพระประธานหนึ่งเดียวในโลกที่มีเพียงครึ่งองค์ก็ว่าได้

ในปัจจุบันพระผุดที่โบสถ์วัดพระทองจะมีอยู่ด้วยกันสององค์ คือ องค์ใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นครอบองค์จริงที่ผุดขึ้นมาจากดินอีกที ส่วนองค์เล็กสร้างขึ้นบนฐานเอาไว้ให้คนทั่วไปปิดทอง

อ้างอิงจาก

12/05/2007

หลวงปู่เหมือน นนฺทสร


ประวัติย่อหลวงปู่เหมือน นนฺทสร เจ้าอาวาส วัดนาวง (โรงหีบ) องค์ที่ 2 ต.หลักหก อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี

นามเดิม เหมือน เนียมน้อย ชาตะวันพุธเดือน 11 ปีมะโรง พ.ศ.2423 บุตรนายเนียม นางพ่วง ภูมิลำเนา บ้านบางพัง ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี


เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้เข้าบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระธรรมมนุสารี (สว่าง) วัดเทียนถวาย เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌายะ เจ้าอธิการเนตร วัดบางกฎีไทย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูธัญญะเขตต์ เขมากร (หลวงพ่อช้าง) วัดเขียนเขตต์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ในสำนักพระ-ธรรมนุสารี วัดเทียนถวาย ผู้เป็นพระอุปัชฌายะ ได้ศึกษาเล่าเรียนในทางสมณกิจพอควรแก่กาลสมัยแล้ว ได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ ณ ที่สำนักวัดโพธิ์ทองบน ได้อยู่แลช่วยเจ้าอาวาส(ท่านอาจารย์เล็ก) ปฏิบัติพระศาสนา และปฏิสังขรณ์อารามตลอดมา

ขณะนั้น ทางวัดนาวง (โรงหีบ) เจ้าอาวาส (พระอธิการชื่น) ได้มรณะภาพลง ขาดผู้ปกครองดูแลวัด พระธรรมานุสารี ผู้เป็นพระอุปัชฌายะได้เห็นอัธยาศัยอันดี ของท่าน (หลวงปู่เหมือน) จึงได้ส่งท่านให้ไปเป็นผู้ปกครองดูแลวัด ตั้งแต่ราวปี 2457 เป็นต้นมา

เมื่อท่านได้มาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ได้จัดการอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรและศิษย์ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาให้อยู่ในธรรมวินัยของแต่ละเพศ และได้ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างกุฏิตลอดจนกระทั่งถนนหนทางภายในบริเวณวัดให้เป็นที่เจริญเรื่อยมา โดยความอุปถัมภ์ของ หลวง-นาวาเกนิกร (ซิวเม๋ง โปษยจินดา) ผู้เป็นเจ้าของจัดสร้างขึ้น อนึ่งวัดนี้เมื่อผู้เป็นเจ้าของสิ้นชีพไปแล้ว บุตรและธิดาก็ได้อุปถัมภ์เรื่อยมา แม้หลวงปู่เหมือนจะได้ปฏิสังขรณ์และก่อสร้างวัตถุสิ่งใดภายในวัด บุตรและธิดาของผู้เป็นเจ้าของก็ได้บริจาคทรัพย์ร่วมด้วยเป็นจำนวนมากดังที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้ เป็นต้นว่า ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ถนนเทคอนกรีต และโรงเรียนประถมศึกษา สถานที่เหล่านี้สำเร็จขึ้นมาได้ก็เพราะว่า เกิดจากปัจจัยของหลวงปู่เหมือน และบุตร ธิดาของผู้เป็นเจ้าของตลอดกระทั่งศิษย์และท่านที่เคารพนับถือทั้งหลายด้วย

อนึ่ง หลวงปู่เหมือน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้ตั้งอยู่ในคุณธรรม มีเมตตา กรุณา เป็นนิจต่อบุคคลและสัตว์ทั่วไปกอบด้วยท่านเป็นผู้มีวิชาทางไสยศาสตร์ และแพทย์แผนโบราณ ได้ใช้วิชานี้รักษาบุคคลทุกเพศวัยที่ป่วยเป็นไข้มาหาท่านๆก็รักษาให้ด้วยจิตเมตตาโดยสม่ำเสมอ ไม่มีอคติ แต่ชีวิตของท่าน ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป เพราะเป็นธรรมดาของสังขารย่อมตกอยู่ในไตรลักษณ ต่อมาท่านก็ได้ เริ่มอาพาธเรื่อยๆมาแม้จะมีแพทย์ปัจจุบันและแผนโบราณที่ดีก็ไม่ทำให้ท่านหายได้ ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพลงในคืนวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2502 เวลา 23.30 น. ด้วยอาการอันสงบ ที่วัดนาวง ต.หลักหก อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี ท่านได้อยู่ในสมณเพศ 59 พรรษา รวมอายุของท่านได้ 80 ปี

อ้างอิงจาก:
1. http://www.lokwannakadi.com
2. http://p.moohin.com

10/28/2007

หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์


ประวัติ
หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าที่ขุดพบโดยบังเอิญในขณะที่กรมชลประทานได้ขุดคลองชลประทาน “ระพีพัฒน์” เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีกุน เดือน ๑๒ พุทธศักราช ๒๕๐๒ องค์หลวงพ่อเป็นดิน ตั้งอยู่บนคันคลองระพีพัฒน์ฝั่งขวาหันหน้าลงน้ำทางทิศตะวันออก ปัจจุบันองค์หลวงพ่อประดิษฐานอยู่ที่ หมู่ ๓ ตลาดหนองตาโล่ บ้านหนองตาโล่ ตำบลคชสิทธิ์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ก่อนที่จะพบองค์หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์นั้น บริเวณดังกล่าวเป็นเนินดินที่มีระดับสูงกว่าองค์หลวงพ่อ และมีเฉพาะทางคนเดินแคบๆเท่านั้น (คลองระพีพัฒน์ขุดในสมัยรัชกาลที่ ๕) ต่อมาได้มีคนงานชลประทานประตูน้ำพระเอกาทศรถมาขุดดินที่เป็นเนินนั้นไปถมริมตลิ่งที่น้ำเซาะพัง หลังจากที่คนงานได้ขุดดินมาแล้วหลายวัน จนไปถึงบริเวณที่องค์หลวงพ่อประดิษฐาน ซึ่งเป็นดินที่แข็งมากผิดไปจากบริเวณอื่นทำให้คนงานขุดดินไม่เข้า จึงแต่ได้ขุดดินไปรอบๆเท่าที่พอจะขุดได้ หลังจากนั้นดินก็ได้แตกออกเป็นรูปพระโดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นองค์หลวงพ่อ เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวเข้าก็มามุงดูกันเป็นจำนวนมาก บางคนก็พูดว่าพระพุทธรูปมาเกิด แต่บางคนคิดไปว่าคนงานชลประทานปั้นองค์พระขึ้นมากันเอง พอตกตอนเย็น นางฝอยชาวบ้านคนหนึ่งที่อาศัยอยู่หลังตลาดหนองตาโล่ ได้เดินผ่านมาทางองค์หลวงพ่อหลังจากไปรับจ้างหาบข้าวลงเรือเจ็ดอาร์เพื่อที่จะกลับบ้าน นางฝอยไม่ได้คิดว่าดินที่เห็นเป็นรูปพระนั้นจะเป็นองค์พระจริงๆ จึงได้เอาเปลือกอ้อยแทนธูปและเอาใบมะขามเทศแทนทองมาไหว้เป็นการล้อเลียนแล้วก็เดินทางกลับบ้าน แต่ยังไม่ทันถึงบ้านนางฝอยก็เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง จึงนึกขึ้นได้ว่าไปไหว้ล้อเลียนองค์พระนั้นเข้า และเมื่อนางฝอยได้จุดธูปกราบขอขมาหลวงพ่อ อาการปวดหัวก็หายไปในทันที

ตอนเย็นวันเดียวกัน คุณยายเกลี้ยง สุขเจริญ หรือยายหนู ที่บ้านอยู่ใกล้องค์หลวงพ่อ ก็กลายเป็นคนเทียมทรงขึ้นทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นมาก่อน ชาวบ้านจึงพากันมามุงดูกันอย่างเนืองแน่น มีผู้สอบถามหลวงพ่อว่ามาจากไหน หลวงพ่อบอกว่ามาอยู่ที่นี่เมื่อ ๒ สมัยแล้ว มาคล้องช้างอยู่สามวันไม่ได้ช้าง และขณะที่นอนหลับอยู่ที่แคร่บนต้นไม้พระเครื่องได้ตกหล่นลงมาแต่ก็หาไม่เจอ ต่อมาภายหลังจึงได้มีคนเอาดินมาถมในบริเวณนี้ (คลองระพีพัฒน์ใช้คนขุดเอาดินขึ้นมาถมเมื่อประมาณ ๗๐ ปีก่อน) ยายหนูถามหลวงพ่อว่าชื่ออะไร หลวงพ่อบอกว่าหากบอกชื่อให้แล้วให้ทำตามสัญญาได้ไหม ยายหนูบอกว่าทำให้ได้ หลวงพ่อจึงบอกว่าให้นิมนต์พระ ๕ วัดมาสวด ให้ตั้งศาลเพียงตา ให้ทำขันธ์ ๕ ทุกๆ วัน และจัดงานกลางเดือน ๑๒ ประจำทุกปี แล้วหลวงพ่อก็บอกว่าท่านชื่อ "สำเร็จศักดิ์สิทธิ์" ใครมากราบไหว้ทำอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์และสำเร็จทุกอย่างตามที่คิดไว้ ขณะเดียวกันชาวบ้านอีกจำนวนมากที่มามุงดู ก็เอาขันน้ำมาให้ทำน้ำมนต์แล้วเอากลับไปบ้าน พอเอาน้ำมนต์ใส่ลงในโอ่งน้ำ น้ำในโอ่งก็เกิดมีเสียงดังจิ๊ดๆๆๆ ทั้งๆที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นเช่นนี้ของทุกคนที่เอาน้ำมนต์ไป ต่อมายายเง็กกับชาวบ้านในตลาดได้ว่าจ้าง นายทวี ดารารัตน์ (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) มาโบกปูนซีเมนต์ที่องค์หลวงพ่อ แต่กรมชลประทานในสมัยนั้นไม่ยินยอมให้ทำโดยอ้างว่ากีดขวางทางคมนาคม และขอให้ชาวบ้านโยกย้ายองค์หลวงพ่อไปอยู่ที่อื่น หลวงพ่อก็ไม่ยอมไปและไม่มีใครกล้าย้าย จึงได้ทำการโบกปูนซีเมนต์ที่องค์หลวงพ่อต่อจนสำเร็จ

ในปี ๒๕๐๕ กรมชลประทานมีคำสั่งให้เอารถมาขุดปรับทาง และทำถนนบนคันคลองจากท่าหลวงถึงอำเภอหนองแค ระหว่างทางที่จะถึงองค์หลวงพ่อรถได้ขุดไปรอบๆฐานจนเกือบจะถูกองค์หลวงพ่อ ก็ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นทันที โดยฟ้าได้ผ่าลงมากลางวันแสกๆทั้งๆที่ปราศจากเมฆฝน ทำให้คนขับต้องรีบหยุดรถแล้วกระโดดลงมากราบขอขมาหลวงพ่อ และไม่กล้าขุดดินใกล้องค์หลวงพ่ออีกต่อไป ชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใส เชื่อกันว่าหลวงพ่อมีความศักดิ์สิทธิ์มาก โดยต่างก็เชื่อกันว่าสามารถปกป้องกันภัยได้ทุกอย่าง ใครมาบนบานขออะไรก็จะได้รับแต่ความสุข ความสมหวัง และสมความปรารถนากันทั่วทุกคน สมกับชื่อของหลวงพ่อจริงๆ หลวงพ่อท่านจึงเป็นพระพุทธรูปที่ชาวสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก ทุกๆปีในกลางเดือน ๑๒ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันจัดงานประจำปีขึ้น ๑๕ วัน ๑๕ คืน ตลอดจนงานปีใหม่ ก็มีการจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๕ วัน ๑๕ คืนเช่นกัน สาธุชนท่านใดได้มาสักการบูชาหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์สักครั้ง ก็นับว่าเป็นบุญและสิริมงคลไปตลอดชีวิตนี้

อ้างอิงจาก:

หลวงปู่ทวด วัดช้างให้



ประวัติ
เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมาในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระตรงกับวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2125 ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็กๆ ฐานะยากจนแร้นแค้น แต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทารกน้อยผู้นี้มีนายว่า "ปู" เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัย ทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอนหลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่า พญางูตัวนั้นน่าจะเป็นเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูกเราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้ว บิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนือทรวงอกของทารกกลับมีดวงแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์จึงเก็บรักษาไว้ นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่การทำมาหากินก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา

เมื่อกาลล่วงมานานจนเด็กชายปูอายุได้เจ็ดขวบ บิดาได้นำไปฝากสมภารจวง วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือเด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับสมเด็จพระชินเสน ที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบทมีฉายาว่า "ราโม ธมฺมิโก" แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า "เจ้าสามีราม" หรือ "เจ้าสามีราโม" เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้วจึงขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ต้องทอดสมออยู่ถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมดบรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศในครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง

เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นมาเจ้าสามีรามก็เป็นชีต้นหรืออาจารย์สืบมา

เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่ วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ

กระทั่งวันหนึ่งถึงกาลเวลาที่ชื่อเสียงของหลวงพ่อทวดหรือเจ้าสามีรามจะระบือลือลั่นไปทั่วกรุงสยาม จึงได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถ กล่าวคือ สมัยนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งประเทศลังกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองทางภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพมาทางแหลมทอง ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงาน ท้องพระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อ ทองคำเหล่านั้นให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม ตามพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ จำนวน 84,000 ตัว จากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ดท่านคุมเรืองสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณ และของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์

เมื่อพราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของกษัตริย์ตนแก่พระเจ้าเอกาทศรถ มีใจความในพระราชสาส์นว่า พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงสยามทรงแปลและเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชสาส์นนี้เป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญาก็จะยึดกรุงศรีอยุธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และทางกรุงสยามจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาตลอดไปทุกๆ ปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย
พระสุบินนิมิต

เมื่อพระเอกาทศรถทรงทราบความ ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่วพระมหานคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้จนกาลเวลาลุล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์และไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้อื้ออึงไปหมด

ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระบรรทมทรงสุบินว่า ได้มีพระยาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพระยาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระราชนิเวศน์แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระแท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้งสี่ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพระยาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม

รุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกว่าราชการ ได้ทรงรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงฟังและได้รับการกราบถวายบังคมทูลว่า เรื่องนี้หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระบรมเดชานุภาพจะแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศเป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวง ทั้งจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวได้ฟังดังนั้นจึงค่อยเบาพระทัย และรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งมวลออกตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที

ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบ "เจ้าสามีราม" ที่วัดราชานุวาส และเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่า "เห็นจะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขในเรื่องร้ายดังกล่าวให้กลายเป็นดี ณ โอกาสนี้" ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้งเจ็ดคนได้ประมาทเจ้าสามีรามโดยว่า เอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้ พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม

ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า "ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด" ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า "ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด"

ครั้นแล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำเริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบุญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยาดาทั้งหลายจึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือ ตัว สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้งเจ็ด พราหมณ์ทั้งเจ็ดก็ยอมจำนวน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น

สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงมีรับสั่งถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามให้ครอง 7 วัน แต่ท่านก็มิได้รับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น "พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์" ในเวลานั้น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือหลวงพ่อทวดได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปี ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

ต่อจากนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มี นิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมากเพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีฯ มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านเจ้าเฝ้า ท่านได้ช่วยไว้อีกครั้งโดยรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและดวงแก้ววิเศษ แล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายขาดด้วยอำนาจ คุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชมีนามว่า "พระสังฆราชคูรูปาจารย์" และทรงพอพระราชหฤทัยในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า "หากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใด หรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ"

ครั้นกาลเวลาล่วงไปหลายปี สมเด็จเจ้าฯได้เข้าเฝ้า ถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงอาลัยมาก ไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า "สมเด็จอย่าละทิ้งโยม" แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา

ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ผ่านที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ตามแนวทางที่ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพสักการะบูชามาถึงบัดนี้ ได้แก่ที่บ้านโกฏิ อำเภอปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อำเภอหัวไทร และอีกหลายแห่ง

ต่อจากนั้น ท่านก็ได้ธุดงค์ไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างซึ่งชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และได้พร้อมกันถวายนามท่านว่า "สมเด็จเจ้าพะโคะ" และเรียกชื่อวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะว่า "วัดพะโคะ" มาจนบัดนี้ สมเด็จเจ้าฯ เห็นวัดพระโคะเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากถูกข้าศึกทำลายโจรกรรม มีสภาพเหมือนวัดร้างสมเด็จเจ้าฯ กับท่านอาจารย์จวง คิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้นายช่างผู้ชำนาญ 500 คน และทรงพระราชทานสิ่งของต่างๆ และเงินตราเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญในวัดพะโคะหรือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระอรหันต์นามว่าพระมหาอโนมทัสสีได้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียสมเด็จเจ้าฯ ได้จำพรรษาเผยแผ่ธรรมที่วัดพะโคะอยู่หลายพรรษา

ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่า ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น 3 คด ชาวบ้านเรียกว่า "ไม้เท้า 3 คด" ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารพากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยกระหายน้ำเป็นอย่างมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเลทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกโจรจีนไปได้

เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป

เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอา "ไม้เท้า 3 คด" พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิกกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่าต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้

สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวดครองสมณเพศและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา

หลังจากนั้นหลายพรรษา สมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะเที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะไปหลายแห่ง จากหลักฐานทราบว่าท่านได้ไปพำนักที่เมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกท่านว่า "ท่านลังกา" และได้ไปพำนักที่วัดช้างไห้ ชาวบ้านเรียกท่านว่า "ท่านช้างให้" ดังนี้ ท่านได้สั่งแก่ศิษย์ว่าหากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย ขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่มาไม่นานเท่าไร ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ปวงศาสนิกก็นำพระศพมาไว้ที่วัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ หรือไปมา นับได้ดังนี้ วัดกุฎิหลวง วัดสีหยัง วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช กรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะ วัดเกาะใหญ่ วัดในไทรบุรี และวัดช้างให้

คาถาหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
ให้ท่านบูชา ธูปแขก 9 ดอก มะลิขาว 9 ดอก ตั้งนะโม 3 จบ แล้วระลึกถึงท่านขอบารมีต่างๆ ที่ต้องการแล้วสวดพระคาถาดังนี้

นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อะติภะคะวา ( 3 จบ )

อ้างอิงจาก
1. http://www.manager.co.th/
2. http://th.wikisource.org/

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

ชาติภูมิ
เดิมชื่อ โต เป็นบุตรของนาง งุด บิดาไม่เป็นที่ปรากฏ ตา ชื่อ ผล ยายชื่อนางลา ถือกำเนิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันพฤหัสที่ 17 เมษายน พ.ศ.2331 สัมฤทธิศก จุลศักราช 1150 เวลา ประมาณ 06.54 น. ตรงกับเดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก เดิมแม่เป็นชาวบ้านท่าอิฐ อำเภอบ้านโพ (อำเภอเมือง*-ปัจจุบัน) จังหวัดอุตรดิตถ์

ต่อมาเกิดฝนแล้งติดต่อกันหลายปีทำนาไม่ได้ผลจึงย้ายมาอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร (และน่าจะได้พบกับพ่อของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ (โต) ณ เมืองนี้) พอตั้งท้องก็ได้ไปอยู่กับยายที่เรือนแพหน้าวัดไก่จ้น และวัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่งุดเมื่อคลอดเด็กชายโตแล้ว ขณะยังนอนเบาะอยู่ก็ได้ย้ายไปอยู่บริเวณวัดไชโยระยะหนึ่ง ต่อมามารดาก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานไปอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม และสอนยืนได้ที่บริเวณ ตำบลบางขุนพรหมนี้ เมื่อโตขึ้นแม่ได้มอบตัวให้เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณอรัญญิก เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร เพื่อศึกษาอักขรสมัย เมื่ออายุ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปีวอก พ.ศ.2342 โดยมีพระบวรวิริยเถระ (อยู่) เจ้าอาวาสวัดบางลำภูบน (วัดสังเวชวิศยาราม-ปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ ณ วัดอินทรวิหาร จนหมดความรู้ของครูอาจารย์ มีความประสงค์ที่จะศึกษาภาษาบาลีต่อท่านเจ้าคุณอรัญญิกจึงได้นำไปฝากอยู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค เปรียญเอก) วัดระฆังโฆสิตาราม

สามเณรโต เป็นผู้มีความวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเป็นอย่างดี มีวัตรปฏิบัติที่งดงามน่าเลื่อมใส จนปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานมาก ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พระราชทานเรือกราบกัญญาหลังคากระแชงให้ท่านไว้ใช้สอยตามอัธยาศัย เมื่ออายุ 20 ปี ตรงกับปีเถาะ พ.ศ.2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า "พฺรหฺมรํสี" และเรียกว่า มหาโต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมณศักดิ์
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่ติดในยศศักดิ์ได้ปฏิเสธเรื่อยมาจนกระทั่งไม่สามารถหลีกได้จึงจำใจยอมรับ
- เป็นพระธรรมกิตติ สถาปนาพร้อมกับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด พ.ศ.2395 ขณะอายุ 65 ปี
- เป็นพระเทพกวี เมื่อปีขาล พ.ศ. 2397
- เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สถาปนาในคราวสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศมรณภาพลง ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พ.ศ.2407 นับเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในปีที่ 5 แห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้ไปดูงานก่อสร้างพระโต วัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหารปัจจุบัน) ได้มรณภาพที่บนศาลาการเปรียญวัดบางขุนพรหมในด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันเสาร์ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2415 ตรงกับ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 (ต้น) ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช 1234 เวลา 24.00 น. คิดทดหักเดือนตามอายุโหราจารย์ ตามสุริยคตินิยม สิริอายุรวม 84 ปี พรรษา 64

พระคาถาชินบัญชร (ฉบับถูกต้องตรวจตามไวยากรณ์โดย พระเทพวิสุทธิเมธี (เที่ยง ป.ธ.๙) วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร)

ก่อนที่จะเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ด้วยคำว่า

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง

อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตัง สุตตะวา

อิติปิโส ภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ

มรณัง สุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

๑. ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง

จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุง นะราสะภา

๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา

สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา.

๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน

สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร.

๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ

โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก.

๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุลา

กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.

๖. เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะ ปะภังกะโร

นิสินโน สิริสัมปันโน โสภีโต มุนิปุงคะโว.

๗. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก

โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.

๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลีนันทะสีวะลี

เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ติละกา มะมะ.

๙. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา

เอตาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา

ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.

๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง

ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง.

๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง

อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา.

๑๒. ชินาณาวะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา

วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา.

๑๓. อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา

วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.

๑๔. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล

สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา.

๑๕. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข

ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว

ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโค

สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย

สัทธัมมานุภาวะปาลิโต

จะรามิ ชินะปัญชะเรติ ฯ

(ชินะปัญชะระคาถา นิฏฐิตา)

อ้างอิงจาก
1. http://www.watindharaviharn.org/
2. http://www.dhammajak.net/
3. http://www.jarun.org/

บรมครูแพทย์ ชีวกโกมารภัจจ์



กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อสาลวดีเป็นสตรีทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง พวกคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์จึงได้คัดเลือกกุมารีสาลวดีเป็นหญิงงามเมือง ครั้นนางกุมารีสาลวดี (สาสวดี) ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนัก ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้องบรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์ ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์

นางมีความคิดเห็นว่า ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆทราบว่ามีครรภ์ ลาภผลจักเสื่อมหมด นางได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่าอย่าให้ชายใดๆเข้ามา และถ้าผู้ใดถามหาจงบอกเขาว่าเราเป็นไข้ หลังจากนั้นอาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่าจงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ (กองขยะ)

ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัย กำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตร เห็นทารกนั้นอันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่าฝูงการุมตอมอะไร มหาดเล็กจึงตอบว่า "ทารก ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ" เจ้าชายอภัยจึงได้มีรับสั่งให้นำทารกนั้นกลับไปให้นางนมของพระองค์เลี้ยงที่วัง และอาศัยคำว่า "ยังเป็นอยู่" จึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก (ยังมีชีวิตอยู่) และได้ตั้งนามสกุลว่าโกมารภัจจ์

ต่อมาไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูลถามแด่เจ้าชายอภัยว่า
"ใครเป็นมารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้ากระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ" เจ้าชายรับสั่งว่า "พ่อชีวก แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้"

เรียนศิลปะทางแพทย์
ชีวกโกมารภัจจ์พออายุได้ ๑๖ ปี ได้ทราบว่ามีนายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมืองตักกสิลา ชีวกโกมารภัจจ์ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นเพื่อกราบขอเรียนวิชาแพทย์

ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์จึงเรียนถามอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มากเรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมาเป็นเวลา ๗ ปีก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า ขอรับ" นายแพทย์ตอบว่า "พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียม เที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์ ตรวจดูว่าสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา"

ชีวกโกมารภัจจ์จึงทำตามคำบอกของอาจารย์ แต่ก็มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่งจึงเดินทางกลับ และได้กราบเรียนต่อนายแพทย์ว่า "ท่านอาจารย์กระผมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง" นายแพทย์บอกว่า "พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้แล้ว"

ภาคปฏิบัติงานแพทย์
ระหว่างการเดินทางกลับ ท่านได้ทำการรักษาภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต ซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี คราวนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หายโดยวิธีนัตถุ์ยาคราวเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้วได้ให้รางวัลชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรเศรษฐีได้ทราบว่ามารดาของเขาหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเขาหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์เศรษฐีคหบดีทราบว่าภรรยาของเราหายโรคแล้วจึงได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาสทาสีพร้อมทั้งรถม้าอีกด้วย ชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาสทาสี และรถม้าเดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ และถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ จากนั้นได้เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วจึงได้กราบทูลว่าเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นการกระทำครั้งแรกของเกล้ากระหม่อม ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูจากเกล้ากระหม่อมเถิด

พระราชกุมารรับสั่งว่า "อย่าเลย พ่อนายชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และเจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในวังของเราเถิด" ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า "เป็นพระกรุณายิ่งพระเจ้าข้า" แล้วได้สร้าง บ้านอยู่ในวังของเจ้าชายอภัย

พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก
สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก พระภูษาเปื้อนพระโลหิต ต่อมาท้าวเธอได้ตรัสเล่าความนั้นแก่เจ้าชายอภัยว่าขอให้ช่วยหาหมอรักษาให้ที เจ้าชายอภัยจึงได้บอกกับชีวกโกมารภัจจ์ว่าให้ไปรักษาพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านก็ได้รักษาโรคริดสีดวงงอกของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชให้หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงหายประชวร จึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นางเปลื้องเครื่องประดับทั้งปวงเพื่อเป็นรางวัลแก่ท่าน แต่ท่านชีวกโกมารภัจจ์ไม่ยอมรับ ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งว่า "ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเถิด"

พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย
สมัยนั้น พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์ กายของตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย"

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อท่านทราบความแล้วจึงบอกให้ท่านพระอานนท์ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันเสียก่อน

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกนี้ว่า การที่จะพึงทูลถวายพระโอสถถ่ายที่หยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้นไม่สมควรเลย ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง"

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มี พระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง"

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง"

ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป ขณะเมื่อชีวกโกมารภัจจ์เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้วได้มีความปริวิตกว่าได้ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่าย ครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของชีวกโกมารภัจจ์ด้วยพระทัยแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

"อานนท์ ชีวกโกมารภัจจ์เกิดความปริวิตก อย่างนั้นเธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้"

ต่อมา ชีวกโกมารภัจจ์ไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราถ่ายแล้ว ชีวก" ท่านชีวกโกมารภัจจ์จึงได้เล่าความปริวิตกของตนให้ตถาคตฟัง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ในลำดับนั้นเอง ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลว่า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผัก ต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ

ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว

หมอชีวกบรรลุโสดาบัน
หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือ สวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวัน ของหมอชีวก)

โรคระบาด ๕ ชนิด
ครั้นหนึ่ง มีโรคระบาดในมคธชนบท ๕ ชนิด คือ โรคเรื้อน ๑ โรคฝี ๑ โรคกลาก ๑ โรคมองคร่อ ๑ โรคลมบ้าหมู ๑ จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้า ให้ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรค ๕ ชนิด ใครบวชให้ถือว่าเป็นอาบัติทุกกฏ

อนุญาตให้สงฆ์รับคหบดีจีวร
สมัยหนึ่ง หมอชีวกได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าอนุญาตให้สงฆ์รับคหบดีจีวรเป็นครั้งแรก

ทูลเสนออนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ
นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย

พระเทวทัตทำโลหิตุปบาทกรรม
ในสมัยหนึ่ง พระเทวทัตเป็นผู้ร่วมคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นสู่เขาคิชฌกูล มีจิตคิดร้ายคิดปลงพระชนม์พระศาสดา จึงกลิ้งหินลงมาจากเขานั้น แต่ยอดเขาทั้ง ๒ ยอดได้รับหินนั้นไว้ สะเก็ดซึ่งแตกออกจากหินนั้น กระเด็นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระโลหิตให้ห้อแล้ว

พระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "เธอทั้งหลาย จงนำเราไปในสวนมะม่วงของหมอชีวกนั้น"

พวกภิกษุจึงได้นำท่านพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก และเมื่อท่านทราบเรื่องก็รีบเดินทางไปถวายเภสัชขนานที่ชะงัด เพื่อประโยชน์กำชับแผล หลังพันแผลเสร็จแล้ว ได้ทราบทูลว่า

"ข้าพระองค์ประกอบเภสัชแก่มนุษย์ผู้หนึ่งภายในพระนคร ข้าพระองค์จักไปยังสำนักของมนุษย์นั้นแล้ว จัก (กลับ) มาเฝ้า ขอให้พระงค์จงตั้งอยู่โดยนิยามที่ข้าพระองค์พันไว้นั่นแล"

หลังจากที่ท่านเข้าไปทำกิจที่ควรทำแก่บุรุษนั้นแล้ว กลับมาในเวลาปิดประตู จึงไม่ทันประตู ท่านจึงได้มีความวิตกว่า

"เราทำกรรมหนักเสียแล้ว ที่เราถวายเภสัชอย่างชะงัดพันแผลที่พระบาทของพระตถาคตเจ้าดุจคนสามัญ เวลานี้เป็นเวลาแก้แผลนั้น เมื่อแผลนั้นอันเรายังไม่แก้ ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง"

ขณะนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนทเถระมาเฝ้า แล้วรับสั่งว่า

"อานนท์ หมอชีวกมาในเวลาเย็นไม่ทันประตู เขาคิดว่า ‘เวลานี้เป็นเวลาแก้แผล’ เธอจงแก้แผลนั้น"

เมื่อพระเถระแก้แล้ว แผลของพระองค์ก็หายสนิทดุจสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้

เมื่อหมอชีวกมายังสำนักพระศาสดาว ภายในอรุณนั่นแล จึงได้ทูลถามว่า

"พระเจ้าข้า ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์หรือไม่?"

พระศาสดาตรัสว่า "ชีวก ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคตสงบราบคาบแล้ว ที่โคนต้นโพธิพฤกษ์นั่นแล"

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนาหมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก

พระคาถาอัญเชิญดวงจิตวิญญาณ เอกอัครมหาบูรพปรมาจารย์ ชีวกโกมารภัจจ์

ก่อนสวดตั้งนะโม ๓ จบ

โอม นะโม ชีวะโก สิระสา อะหัง กรุณิโก สัพพะสัทธานัง โอสะถะ ทิพพะมันตัง ประภาโส สุริยาจันทัง โกมารภัจจ์โต ประภาเสสิ วันทามิ ปัณฑิโต สุเมทะโส อะโรคา สุมนาโหมิ (ว่า ๓ ครั้ง)

นะอะ นะวะ โรคา พยาธิ วินาสสันติ (ว่า ๓ ครั้ง)

บทอธิษฐาน
ขอบารมีแห่งบรมครูหมอชีวกโกมารกัจจ์ จงคุ้มครองให้ ข้าพเจ้า ........ (ชื่อ / นามสกุล) ........ พ้นจากโรคร้ายภัยเวร โรคเวร โรคกรรม ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ขอให้อานิสงส์แห่งแรงอธิษฐานนี้คุ้มครองข้าพเจ้านับตั้งแต่บัดนี้ล่วงไปเมื่อหน้าเทอญ..

อ้างอิงจาก:
1. http://www.dharma-gateway.com/
(เนื้อหาจากพระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน)
2. http://www.geocities.com/siammedherb
3. http://www.zubzip.com/
4. http://www.komchadluek.net/