10/28/2007

หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์


ประวัติ
หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าที่ขุดพบโดยบังเอิญในขณะที่กรมชลประทานได้ขุดคลองชลประทาน “ระพีพัฒน์” เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีกุน เดือน ๑๒ พุทธศักราช ๒๕๐๒ องค์หลวงพ่อเป็นดิน ตั้งอยู่บนคันคลองระพีพัฒน์ฝั่งขวาหันหน้าลงน้ำทางทิศตะวันออก ปัจจุบันองค์หลวงพ่อประดิษฐานอยู่ที่ หมู่ ๓ ตลาดหนองตาโล่ บ้านหนองตาโล่ ตำบลคชสิทธิ์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ก่อนที่จะพบองค์หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์นั้น บริเวณดังกล่าวเป็นเนินดินที่มีระดับสูงกว่าองค์หลวงพ่อ และมีเฉพาะทางคนเดินแคบๆเท่านั้น (คลองระพีพัฒน์ขุดในสมัยรัชกาลที่ ๕) ต่อมาได้มีคนงานชลประทานประตูน้ำพระเอกาทศรถมาขุดดินที่เป็นเนินนั้นไปถมริมตลิ่งที่น้ำเซาะพัง หลังจากที่คนงานได้ขุดดินมาแล้วหลายวัน จนไปถึงบริเวณที่องค์หลวงพ่อประดิษฐาน ซึ่งเป็นดินที่แข็งมากผิดไปจากบริเวณอื่นทำให้คนงานขุดดินไม่เข้า จึงแต่ได้ขุดดินไปรอบๆเท่าที่พอจะขุดได้ หลังจากนั้นดินก็ได้แตกออกเป็นรูปพระโดยไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นองค์หลวงพ่อ เมื่อชาวบ้านรู้ข่าวเข้าก็มามุงดูกันเป็นจำนวนมาก บางคนก็พูดว่าพระพุทธรูปมาเกิด แต่บางคนคิดไปว่าคนงานชลประทานปั้นองค์พระขึ้นมากันเอง พอตกตอนเย็น นางฝอยชาวบ้านคนหนึ่งที่อาศัยอยู่หลังตลาดหนองตาโล่ ได้เดินผ่านมาทางองค์หลวงพ่อหลังจากไปรับจ้างหาบข้าวลงเรือเจ็ดอาร์เพื่อที่จะกลับบ้าน นางฝอยไม่ได้คิดว่าดินที่เห็นเป็นรูปพระนั้นจะเป็นองค์พระจริงๆ จึงได้เอาเปลือกอ้อยแทนธูปและเอาใบมะขามเทศแทนทองมาไหว้เป็นการล้อเลียนแล้วก็เดินทางกลับบ้าน แต่ยังไม่ทันถึงบ้านนางฝอยก็เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง จึงนึกขึ้นได้ว่าไปไหว้ล้อเลียนองค์พระนั้นเข้า และเมื่อนางฝอยได้จุดธูปกราบขอขมาหลวงพ่อ อาการปวดหัวก็หายไปในทันที

ตอนเย็นวันเดียวกัน คุณยายเกลี้ยง สุขเจริญ หรือยายหนู ที่บ้านอยู่ใกล้องค์หลวงพ่อ ก็กลายเป็นคนเทียมทรงขึ้นทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นมาก่อน ชาวบ้านจึงพากันมามุงดูกันอย่างเนืองแน่น มีผู้สอบถามหลวงพ่อว่ามาจากไหน หลวงพ่อบอกว่ามาอยู่ที่นี่เมื่อ ๒ สมัยแล้ว มาคล้องช้างอยู่สามวันไม่ได้ช้าง และขณะที่นอนหลับอยู่ที่แคร่บนต้นไม้พระเครื่องได้ตกหล่นลงมาแต่ก็หาไม่เจอ ต่อมาภายหลังจึงได้มีคนเอาดินมาถมในบริเวณนี้ (คลองระพีพัฒน์ใช้คนขุดเอาดินขึ้นมาถมเมื่อประมาณ ๗๐ ปีก่อน) ยายหนูถามหลวงพ่อว่าชื่ออะไร หลวงพ่อบอกว่าหากบอกชื่อให้แล้วให้ทำตามสัญญาได้ไหม ยายหนูบอกว่าทำให้ได้ หลวงพ่อจึงบอกว่าให้นิมนต์พระ ๕ วัดมาสวด ให้ตั้งศาลเพียงตา ให้ทำขันธ์ ๕ ทุกๆ วัน และจัดงานกลางเดือน ๑๒ ประจำทุกปี แล้วหลวงพ่อก็บอกว่าท่านชื่อ "สำเร็จศักดิ์สิทธิ์" ใครมากราบไหว้ทำอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์และสำเร็จทุกอย่างตามที่คิดไว้ ขณะเดียวกันชาวบ้านอีกจำนวนมากที่มามุงดู ก็เอาขันน้ำมาให้ทำน้ำมนต์แล้วเอากลับไปบ้าน พอเอาน้ำมนต์ใส่ลงในโอ่งน้ำ น้ำในโอ่งก็เกิดมีเสียงดังจิ๊ดๆๆๆ ทั้งๆที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นเช่นนี้ของทุกคนที่เอาน้ำมนต์ไป ต่อมายายเง็กกับชาวบ้านในตลาดได้ว่าจ้าง นายทวี ดารารัตน์ (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) มาโบกปูนซีเมนต์ที่องค์หลวงพ่อ แต่กรมชลประทานในสมัยนั้นไม่ยินยอมให้ทำโดยอ้างว่ากีดขวางทางคมนาคม และขอให้ชาวบ้านโยกย้ายองค์หลวงพ่อไปอยู่ที่อื่น หลวงพ่อก็ไม่ยอมไปและไม่มีใครกล้าย้าย จึงได้ทำการโบกปูนซีเมนต์ที่องค์หลวงพ่อต่อจนสำเร็จ

ในปี ๒๕๐๕ กรมชลประทานมีคำสั่งให้เอารถมาขุดปรับทาง และทำถนนบนคันคลองจากท่าหลวงถึงอำเภอหนองแค ระหว่างทางที่จะถึงองค์หลวงพ่อรถได้ขุดไปรอบๆฐานจนเกือบจะถูกองค์หลวงพ่อ ก็ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นทันที โดยฟ้าได้ผ่าลงมากลางวันแสกๆทั้งๆที่ปราศจากเมฆฝน ทำให้คนขับต้องรีบหยุดรถแล้วกระโดดลงมากราบขอขมาหลวงพ่อ และไม่กล้าขุดดินใกล้องค์หลวงพ่ออีกต่อไป ชาวบ้านจึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใส เชื่อกันว่าหลวงพ่อมีความศักดิ์สิทธิ์มาก โดยต่างก็เชื่อกันว่าสามารถปกป้องกันภัยได้ทุกอย่าง ใครมาบนบานขออะไรก็จะได้รับแต่ความสุข ความสมหวัง และสมความปรารถนากันทั่วทุกคน สมกับชื่อของหลวงพ่อจริงๆ หลวงพ่อท่านจึงเป็นพระพุทธรูปที่ชาวสระบุรีและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก ทุกๆปีในกลางเดือน ๑๒ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันจัดงานประจำปีขึ้น ๑๕ วัน ๑๕ คืน ตลอดจนงานปีใหม่ ก็มีการจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๕ วัน ๑๕ คืนเช่นกัน สาธุชนท่านใดได้มาสักการบูชาหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์สักครั้ง ก็นับว่าเป็นบุญและสิริมงคลไปตลอดชีวิตนี้

อ้างอิงจาก:

หลวงปู่ทวด วัดช้างให้



ประวัติ
เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมาในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระตรงกับวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2125 ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็กๆ ฐานะยากจนแร้นแค้น แต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทารกน้อยผู้นี้มีนายว่า "ปู" เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัย ทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอนหลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่า พญางูตัวนั้นน่าจะเป็นเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูกเราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้ว บิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนือทรวงอกของทารกกลับมีดวงแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์จึงเก็บรักษาไว้ นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่การทำมาหากินก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา

เมื่อกาลล่วงมานานจนเด็กชายปูอายุได้เจ็ดขวบ บิดาได้นำไปฝากสมภารจวง วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือเด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับสมเด็จพระชินเสน ที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบทมีฉายาว่า "ราโม ธมฺมิโก" แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า "เจ้าสามีราม" หรือ "เจ้าสามีราโม" เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้วจึงขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ต้องทอดสมออยู่ถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมดบรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศในครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง

เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นมาเจ้าสามีรามก็เป็นชีต้นหรืออาจารย์สืบมา

เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่ วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ

กระทั่งวันหนึ่งถึงกาลเวลาที่ชื่อเสียงของหลวงพ่อทวดหรือเจ้าสามีรามจะระบือลือลั่นไปทั่วกรุงสยาม จึงได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถ กล่าวคือ สมัยนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งประเทศลังกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองทางภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพมาทางแหลมทอง ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงาน ท้องพระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อ ทองคำเหล่านั้นให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม ตามพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ จำนวน 84,000 ตัว จากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ดท่านคุมเรืองสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณ และของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์

เมื่อพราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของกษัตริย์ตนแก่พระเจ้าเอกาทศรถ มีใจความในพระราชสาส์นว่า พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงสยามทรงแปลและเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชสาส์นนี้เป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญาก็จะยึดกรุงศรีอยุธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และทางกรุงสยามจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาตลอดไปทุกๆ ปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย
พระสุบินนิมิต

เมื่อพระเอกาทศรถทรงทราบความ ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่วพระมหานคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้จนกาลเวลาลุล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์และไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้อื้ออึงไปหมด

ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระบรรทมทรงสุบินว่า ได้มีพระยาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพระยาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระราชนิเวศน์แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระแท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้งสี่ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพระยาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม

รุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกว่าราชการ ได้ทรงรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงฟังและได้รับการกราบถวายบังคมทูลว่า เรื่องนี้หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระบรมเดชานุภาพจะแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศเป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวง ทั้งจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวได้ฟังดังนั้นจึงค่อยเบาพระทัย และรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งมวลออกตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที

ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบ "เจ้าสามีราม" ที่วัดราชานุวาส และเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่า "เห็นจะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขในเรื่องร้ายดังกล่าวให้กลายเป็นดี ณ โอกาสนี้" ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้งเจ็ดคนได้ประมาทเจ้าสามีรามโดยว่า เอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้ พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม

ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า "ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด" ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า "ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด"

ครั้นแล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำเริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบุญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยาดาทั้งหลายจึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือ ตัว สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้งเจ็ด พราหมณ์ทั้งเจ็ดก็ยอมจำนวน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น

สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงมีรับสั่งถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามให้ครอง 7 วัน แต่ท่านก็มิได้รับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น "พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์" ในเวลานั้น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือหลวงพ่อทวดได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปี ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

ต่อจากนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มี นิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมากเพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีฯ มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านเจ้าเฝ้า ท่านได้ช่วยไว้อีกครั้งโดยรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและดวงแก้ววิเศษ แล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายขาดด้วยอำนาจ คุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชมีนามว่า "พระสังฆราชคูรูปาจารย์" และทรงพอพระราชหฤทัยในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า "หากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใด หรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ"

ครั้นกาลเวลาล่วงไปหลายปี สมเด็จเจ้าฯได้เข้าเฝ้า ถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงอาลัยมาก ไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า "สมเด็จอย่าละทิ้งโยม" แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา

ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ผ่านที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ตามแนวทางที่ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพสักการะบูชามาถึงบัดนี้ ได้แก่ที่บ้านโกฏิ อำเภอปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อำเภอหัวไทร และอีกหลายแห่ง

ต่อจากนั้น ท่านก็ได้ธุดงค์ไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างซึ่งชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และได้พร้อมกันถวายนามท่านว่า "สมเด็จเจ้าพะโคะ" และเรียกชื่อวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะว่า "วัดพะโคะ" มาจนบัดนี้ สมเด็จเจ้าฯ เห็นวัดพระโคะเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากถูกข้าศึกทำลายโจรกรรม มีสภาพเหมือนวัดร้างสมเด็จเจ้าฯ กับท่านอาจารย์จวง คิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้นายช่างผู้ชำนาญ 500 คน และทรงพระราชทานสิ่งของต่างๆ และเงินตราเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญในวัดพะโคะหรือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระอรหันต์นามว่าพระมหาอโนมทัสสีได้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียสมเด็จเจ้าฯ ได้จำพรรษาเผยแผ่ธรรมที่วัดพะโคะอยู่หลายพรรษา

ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่า ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น 3 คด ชาวบ้านเรียกว่า "ไม้เท้า 3 คด" ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารพากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยกระหายน้ำเป็นอย่างมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเลทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกโจรจีนไปได้

เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป

เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอา "ไม้เท้า 3 คด" พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิกกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่าต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้

สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวดครองสมณเพศและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา

หลังจากนั้นหลายพรรษา สมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะเที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะไปหลายแห่ง จากหลักฐานทราบว่าท่านได้ไปพำนักที่เมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกท่านว่า "ท่านลังกา" และได้ไปพำนักที่วัดช้างไห้ ชาวบ้านเรียกท่านว่า "ท่านช้างให้" ดังนี้ ท่านได้สั่งแก่ศิษย์ว่าหากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย ขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่มาไม่นานเท่าไร ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ปวงศาสนิกก็นำพระศพมาไว้ที่วัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ หรือไปมา นับได้ดังนี้ วัดกุฎิหลวง วัดสีหยัง วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช กรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะ วัดเกาะใหญ่ วัดในไทรบุรี และวัดช้างให้

คาถาหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด
ให้ท่านบูชา ธูปแขก 9 ดอก มะลิขาว 9 ดอก ตั้งนะโม 3 จบ แล้วระลึกถึงท่านขอบารมีต่างๆ ที่ต้องการแล้วสวดพระคาถาดังนี้

นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อะติภะคะวา ( 3 จบ )

อ้างอิงจาก
1. http://www.manager.co.th/
2. http://th.wikisource.org/

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

ชาติภูมิ
เดิมชื่อ โต เป็นบุตรของนาง งุด บิดาไม่เป็นที่ปรากฏ ตา ชื่อ ผล ยายชื่อนางลา ถือกำเนิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันพฤหัสที่ 17 เมษายน พ.ศ.2331 สัมฤทธิศก จุลศักราช 1150 เวลา ประมาณ 06.54 น. ตรงกับเดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก เดิมแม่เป็นชาวบ้านท่าอิฐ อำเภอบ้านโพ (อำเภอเมือง*-ปัจจุบัน) จังหวัดอุตรดิตถ์

ต่อมาเกิดฝนแล้งติดต่อกันหลายปีทำนาไม่ได้ผลจึงย้ายมาอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร (และน่าจะได้พบกับพ่อของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ (โต) ณ เมืองนี้) พอตั้งท้องก็ได้ไปอยู่กับยายที่เรือนแพหน้าวัดไก่จ้น และวัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่งุดเมื่อคลอดเด็กชายโตแล้ว ขณะยังนอนเบาะอยู่ก็ได้ย้ายไปอยู่บริเวณวัดไชโยระยะหนึ่ง ต่อมามารดาก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานไปอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม และสอนยืนได้ที่บริเวณ ตำบลบางขุนพรหมนี้ เมื่อโตขึ้นแม่ได้มอบตัวให้เป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณอรัญญิก เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร เพื่อศึกษาอักขรสมัย เมื่ออายุ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปีวอก พ.ศ.2342 โดยมีพระบวรวิริยเถระ (อยู่) เจ้าอาวาสวัดบางลำภูบน (วัดสังเวชวิศยาราม-ปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ ณ วัดอินทรวิหาร จนหมดความรู้ของครูอาจารย์ มีความประสงค์ที่จะศึกษาภาษาบาลีต่อท่านเจ้าคุณอรัญญิกจึงได้นำไปฝากอยู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค เปรียญเอก) วัดระฆังโฆสิตาราม

สามเณรโต เป็นผู้มีความวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเป็นอย่างดี มีวัตรปฏิบัติที่งดงามน่าเลื่อมใส จนปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปรานมาก ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พระราชทานเรือกราบกัญญาหลังคากระแชงให้ท่านไว้ใช้สอยตามอัธยาศัย เมื่ออายุ 20 ปี ตรงกับปีเถาะ พ.ศ.2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า "พฺรหฺมรํสี" และเรียกว่า มหาโต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สมณศักดิ์
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่ติดในยศศักดิ์ได้ปฏิเสธเรื่อยมาจนกระทั่งไม่สามารถหลีกได้จึงจำใจยอมรับ
- เป็นพระธรรมกิตติ สถาปนาพร้อมกับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด พ.ศ.2395 ขณะอายุ 65 ปี
- เป็นพระเทพกวี เมื่อปีขาล พ.ศ. 2397
- เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) สถาปนาในคราวสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศมรณภาพลง ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พ.ศ.2407 นับเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รูปที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในปีที่ 5 แห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้ไปดูงานก่อสร้างพระโต วัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหารปัจจุบัน) ได้มรณภาพที่บนศาลาการเปรียญวัดบางขุนพรหมในด้วยโรคลมปัจจุบัน เมื่อวันเสาร์ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2415 ตรงกับ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 (ต้น) ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช 1234 เวลา 24.00 น. คิดทดหักเดือนตามอายุโหราจารย์ ตามสุริยคตินิยม สิริอายุรวม 84 ปี พรรษา 64

พระคาถาชินบัญชร (ฉบับถูกต้องตรวจตามไวยากรณ์โดย พระเทพวิสุทธิเมธี (เที่ยง ป.ธ.๙) วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร)

ก่อนที่จะเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ด้วยคำว่า

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง

อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตัง สุตตะวา

อิติปิโส ภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ

มรณัง สุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

๑. ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง

จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุง นะราสะภา

๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา

สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา.

๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน

สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร.

๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ

โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก.

๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุลา

กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก.

๖. เกสะโต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะ ปะภังกะโร

นิสินโน สิริสัมปันโน โสภีโต มุนิปุงคะโว.

๗. กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก

โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.

๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลีนันทะสีวะลี

เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ติละกา มะมะ.

๙. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา

เอตาสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา

ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.

๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง

ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง.

๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง

อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา.

๑๒. ชินาณาวะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลังกะตา

วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา.

๑๓. อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา

วะสะโต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.

๑๔. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล

สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ เต มะหาปุริสาสะภา.

๑๕. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข

ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว

ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโค

สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย

สัทธัมมานุภาวะปาลิโต

จะรามิ ชินะปัญชะเรติ ฯ

(ชินะปัญชะระคาถา นิฏฐิตา)

อ้างอิงจาก
1. http://www.watindharaviharn.org/
2. http://www.dhammajak.net/
3. http://www.jarun.org/

บรมครูแพทย์ ชีวกโกมารภัจจ์



กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์
สมัยนั้น ในพระนครราชคฤห์ มีกุมารีชื่อสาลวดีเป็นสตรีทรงโฉมสคราญตาน่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง พวกคนมีทรัพย์ชาวพระนครราชคฤห์จึงได้คัดเลือกกุมารีสาลวดีเป็นหญิงงามเมือง ครั้นนางกุมารีสาลวดี (สาสวดี) ได้รับเลือกเป็นหญิงงามเมืองแล้ว ไม่ช้านานเท่าไรนัก ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้องบรรเลงเครื่องดนตรี มีคนที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์ ครั้นมิช้ามินาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์

นางมีความคิดเห็นว่า ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ ถ้าใครๆทราบว่ามีครรภ์ ลาภผลจักเสื่อมหมด นางได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่าอย่าให้ชายใดๆเข้ามา และถ้าผู้ใดถามหาจงบอกเขาว่าเราเป็นไข้ หลังจากนั้นอาศัยความแก่แห่งครรภ์นั้น นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และสั่งกำชับทาสีว่าจงวางทารกนี้ลงบนกระด้งเก่าๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ (กองขยะ)

ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัย กำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตร เห็นทารกนั้นอันฝูงกาห้อมล้อมอยู่ ครั้นแล้วได้ถามมหาดเล็กว่าฝูงการุมตอมอะไร มหาดเล็กจึงตอบว่า "ทารก ยังเป็นอยู่ พ่ะย่ะค่ะ" เจ้าชายอภัยจึงได้มีรับสั่งให้นำทารกนั้นกลับไปให้นางนมของพระองค์เลี้ยงที่วัง และอาศัยคำว่า "ยังเป็นอยู่" จึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก (ยังมีชีวิตอยู่) และได้ตั้งนามสกุลว่าโกมารภัจจ์

ต่อมาไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจจ์ก็รู้เดียงสา จึงเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วได้ทูลถามแด่เจ้าชายอภัยว่า
"ใครเป็นมารดาของเกล้ากระหม่อม ใครเป็นบิดาของเกล้ากระหม่อม พ่ะย่ะค่ะ" เจ้าชายรับสั่งว่า "พ่อชีวก แม้ถึงตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า ก็แต่ว่าเราเป็นบิดาของเจ้า เพราะเราได้ให้เลี้ยงเจ้าไว้"

เรียนศิลปะทางแพทย์
ชีวกโกมารภัจจ์พออายุได้ ๑๖ ปี ได้ทราบว่ามีนายแพทย์ทิศาปาโมกข์ตั้งสำนักอยู่ ณ เมืองตักกสิลา ชีวกโกมารภัจจ์ไม่ทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางไปเมืองตักกสิลา เดินรอนแรมไปโดยลำดับ ถึงเมืองตักกสิลา แล้วเข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นเพื่อกราบขอเรียนวิชาแพทย์

ครั้งนั้นชีวกโกมารภัจจ์ เรียนวิชาได้มาก เรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย และวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม ครั้นล่วงมาได้ ๗ ปี ชีวกโกมารภัจจ์จึงเรียนถามอาจารย์ว่า "ท่านอาจารย์ กระผมเรียนวิชาได้มากเรียนได้เร็ว เข้าใจดีด้วย ทั้งวิชาที่เรียนได้แล้วก็ไม่ลืม และกระผมได้เรียนมาเป็นเวลา ๗ ปีก็ยังไม่สำเร็จ เมื่อไรจักสำเร็จสักทีเล่า ขอรับ" นายแพทย์ตอบว่า "พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียม เที่ยวไปรอบเมืองตักกสิลา ระยะทาง ๑ โยชน์ ตรวจดูว่าสิ่งใดไม่ใช่ตัวยา จงขุดสิ่งนั้นมา"

ชีวกโกมารภัจจ์จึงทำตามคำบอกของอาจารย์ แต่ก็มิได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่งจึงเดินทางกลับ และได้กราบเรียนต่อนายแพทย์ว่า "ท่านอาจารย์กระผมเดินไปรอบเมืองตักกสิลาระยะทาง ๑ โยชน์แล้ว มิได้เห็นสิ่งที่ไม่เป็นยาสักอย่างหนึ่ง" นายแพทย์บอกว่า "พ่อชีวก เธอศึกษาสำเร็จแล้ว เท่านี้ก็พอที่เธอจะครองชีพได้แล้ว"

ภาคปฏิบัติงานแพทย์
ระหว่างการเดินทางกลับ ท่านได้ทำการรักษาภรรยาเศรษฐีที่เมืองสาเกต ซึ่งเป็นโรคปวดศีรษะอยู่ ๗ ปี คราวนั้นชีวกโกมารภัจจ์ได้กำจัดโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นมา ๗ ปีให้หายโดยวิธีนัตถุ์ยาคราวเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรคแล้วได้ให้รางวัลชีวกโกมารภัจจ์เป็นเงิน ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรเศรษฐีได้ทราบว่ามารดาของเขาหายโรคแล้ว ได้ให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ บุตรสะใภ้ได้ทราบว่า แม่ผัวของเขาหายโรคแล้ว ก็ได้ให้รางวัล ๔,๐๐๐ กษาปณ์เศรษฐีคหบดีทราบว่าภรรยาของเราหายโรคแล้วจึงได้เพิ่มรางวัลให้อีก ๔,๐๐๐ กษาปณ์ และให้ทาสทาสีพร้อมทั้งรถม้าอีกด้วย ชีวกโกมารภัจจ์รับเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาสทาสี และรถม้าเดินทางมุ่งไปพระนครราชคฤห์ และถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ จากนั้นได้เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย ครั้นแล้วจึงได้กราบทูลว่าเงิน ๑๖,๐๐๐ กษาปณ์ กับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นการกระทำครั้งแรกของเกล้ากระหม่อม ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูจากเกล้ากระหม่อมเถิด

พระราชกุมารรับสั่งว่า "อย่าเลย พ่อนายชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และเจ้าจงสร้างบ้านอยู่ในวังของเราเถิด" ชีวกโกมารภัจจ์ทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า "เป็นพระกรุณายิ่งพระเจ้าข้า" แล้วได้สร้าง บ้านอยู่ในวังของเจ้าชายอภัย

พระเจ้าพิมพิสารทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก
สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก พระภูษาเปื้อนพระโลหิต ต่อมาท้าวเธอได้ตรัสเล่าความนั้นแก่เจ้าชายอภัยว่าขอให้ช่วยหาหมอรักษาให้ที เจ้าชายอภัยจึงได้บอกกับชีวกโกมารภัจจ์ว่าให้ไปรักษาพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านก็ได้รักษาโรคริดสีดวงงอกของพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชให้หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามาคธราชทรงหายประชวร จึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นางเปลื้องเครื่องประดับทั้งปวงเพื่อเป็นรางวัลแก่ท่าน แต่ท่านชีวกโกมารภัจจ์ไม่ยอมรับ ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจึงรับสั่งว่า "ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเถิด"

พระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย
สมัยนั้น พระกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จึงพระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์ กายของตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย"

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เดินไปหาชีวกโกมารภัจจ์ เมื่อท่านทราบความแล้วจึงบอกให้ท่านพระอานนท์ได้ทำพระกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันเสียก่อน

ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจจ์ได้มีความปริวิตกนี้ว่า การที่จะพึงทูลถวายพระโอสถถ่ายที่หยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้นไม่สมควรเลย ครั้นแล้วได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง"

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๒ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มี พระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง"

แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า

"พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ การทรงสูดก้านอุบลนี้ จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง"

ครั้นชีวกโกมารภัจจ์ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป ขณะเมื่อชีวกโกมารภัจจ์เดินออกไปนอกซุ้มประตูแล้วได้มีความปริวิตกว่าได้ทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพระกายของพระตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จักไม่ยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่าย ครบ ๓๐ ครั้ง จักให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจักสรงพระกาย ครั้นสรงพระกายแล้ว จักถ่ายอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของชีวกโกมารภัจจ์ด้วยพระทัยแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า

"อานนท์ ชีวกโกมารภัจจ์เกิดความปริวิตก อย่างนั้นเธอจงจัดเตรียมน้ำร้อนไว้"

ต่อมา ชีวกโกมารภัจจ์ไปในพุทธสำนัก ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธองค์ตรัสว่า "เราถ่ายแล้ว ชีวก" ท่านชีวกโกมารภัจจ์จึงได้เล่าความปริวิตกของตนให้ตถาคตฟัง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น ครั้นสรงแล้ว ทรงถ่ายอีกครั้งหนึ่งอย่างนี้ เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง ในลำดับนั้นเอง ชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลว่า พระผู้มีพระภาคไม่ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผัก ต่างๆ จนกว่าจะมีพระกายเป็นปกติ

ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว

หมอชีวกบรรลุโสดาบัน
หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือ สวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวัน ของหมอชีวก)

โรคระบาด ๕ ชนิด
ครั้นหนึ่ง มีโรคระบาดในมคธชนบท ๕ ชนิด คือ โรคเรื้อน ๑ โรคฝี ๑ โรคกลาก ๑ โรคมองคร่อ ๑ โรคลมบ้าหมู ๑ จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้า ให้ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วย ด้วยโรค ๕ ชนิด ใครบวชให้ถือว่าเป็นอาบัติทุกกฏ

อนุญาตให้สงฆ์รับคหบดีจีวร
สมัยหนึ่ง หมอชีวกได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าอนุญาตให้สงฆ์รับคหบดีจีวรเป็นครั้งแรก

ทูลเสนออนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ
นอกจากนั้น หมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพของภิกษุทั้งหลาย

พระเทวทัตทำโลหิตุปบาทกรรม
ในสมัยหนึ่ง พระเทวทัตเป็นผู้ร่วมคิดกับพระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นสู่เขาคิชฌกูล มีจิตคิดร้ายคิดปลงพระชนม์พระศาสดา จึงกลิ้งหินลงมาจากเขานั้น แต่ยอดเขาทั้ง ๒ ยอดได้รับหินนั้นไว้ สะเก็ดซึ่งแตกออกจากหินนั้น กระเด็นไปกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังพระโลหิตให้ห้อแล้ว

พระศาสดาได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า "เธอทั้งหลาย จงนำเราไปในสวนมะม่วงของหมอชีวกนั้น"

พวกภิกษุจึงได้นำท่านพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก และเมื่อท่านทราบเรื่องก็รีบเดินทางไปถวายเภสัชขนานที่ชะงัด เพื่อประโยชน์กำชับแผล หลังพันแผลเสร็จแล้ว ได้ทราบทูลว่า

"ข้าพระองค์ประกอบเภสัชแก่มนุษย์ผู้หนึ่งภายในพระนคร ข้าพระองค์จักไปยังสำนักของมนุษย์นั้นแล้ว จัก (กลับ) มาเฝ้า ขอให้พระงค์จงตั้งอยู่โดยนิยามที่ข้าพระองค์พันไว้นั่นแล"

หลังจากที่ท่านเข้าไปทำกิจที่ควรทำแก่บุรุษนั้นแล้ว กลับมาในเวลาปิดประตู จึงไม่ทันประตู ท่านจึงได้มีความวิตกว่า

"เราทำกรรมหนักเสียแล้ว ที่เราถวายเภสัชอย่างชะงัดพันแผลที่พระบาทของพระตถาคตเจ้าดุจคนสามัญ เวลานี้เป็นเวลาแก้แผลนั้น เมื่อแผลนั้นอันเรายังไม่แก้ ความเร่าร้อนในพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเกิดตลอดคืนยังรุ่ง"

ขณะนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนทเถระมาเฝ้า แล้วรับสั่งว่า

"อานนท์ หมอชีวกมาในเวลาเย็นไม่ทันประตู เขาคิดว่า ‘เวลานี้เป็นเวลาแก้แผล’ เธอจงแก้แผลนั้น"

เมื่อพระเถระแก้แล้ว แผลของพระองค์ก็หายสนิทดุจสะเก็ดไม้หลุดออกจากต้นไม้

เมื่อหมอชีวกมายังสำนักพระศาสดาว ภายในอรุณนั่นแล จึงได้ทูลถามว่า

"พระเจ้าข้า ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในพระสรีระของพระองค์หรือไม่?"

พระศาสดาตรัสว่า "ชีวก ความเร่าร้อนทั้งปวงของตถาคตสงบราบคาบแล้ว ที่โคนต้นโพธิพฤกษ์นั่นแล"

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนาหมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลพระสงฆ์มาก

พระคาถาอัญเชิญดวงจิตวิญญาณ เอกอัครมหาบูรพปรมาจารย์ ชีวกโกมารภัจจ์

ก่อนสวดตั้งนะโม ๓ จบ

โอม นะโม ชีวะโก สิระสา อะหัง กรุณิโก สัพพะสัทธานัง โอสะถะ ทิพพะมันตัง ประภาโส สุริยาจันทัง โกมารภัจจ์โต ประภาเสสิ วันทามิ ปัณฑิโต สุเมทะโส อะโรคา สุมนาโหมิ (ว่า ๓ ครั้ง)

นะอะ นะวะ โรคา พยาธิ วินาสสันติ (ว่า ๓ ครั้ง)

บทอธิษฐาน
ขอบารมีแห่งบรมครูหมอชีวกโกมารกัจจ์ จงคุ้มครองให้ ข้าพเจ้า ........ (ชื่อ / นามสกุล) ........ พ้นจากโรคร้ายภัยเวร โรคเวร โรคกรรม ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี ขอให้อานิสงส์แห่งแรงอธิษฐานนี้คุ้มครองข้าพเจ้านับตั้งแต่บัดนี้ล่วงไปเมื่อหน้าเทอญ..

อ้างอิงจาก:
1. http://www.dharma-gateway.com/
(เนื้อหาจากพระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน)
2. http://www.geocities.com/siammedherb
3. http://www.zubzip.com/
4. http://www.komchadluek.net/